นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่เป็นมาตรการที่ออกมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งในภาพรวมจะช่วยในการประคองเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการป้องกันการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้าง โดยในส่วนของมาตรการเราชนะจะเป็นการช่วยเหลือในกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการดูแล ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่นอกระบบ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า ผู้ขับแท็กซี่ มอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง คาดว่ามีอยู่ราว 30-35 ล้านคนที่มีสิทธิจะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำเสนอรายละเอียดต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งก่อนเปิดให้ลงทะเบียน โดยวิธีการลงทะเบียนจะไม่ยาก โดยต้องการข้อมูลส่วนตัว และเลขบัตรประชาชนเท่านั้น รอบนี้จะพยายามทำให้การลงทะเบียนง่ายขึ้นกว่ารอบแรกคือโครงการเราไม่ทิ้งกัน ส่วนความช่วยเหลือที่รัฐบาลกำหนดไว้เพียง 2 เดือนนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องประหยัดการใช้งบประมาณให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นกัน สำหรับโครงการคนละครึ่งทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ถือว่าได้ผลตอบรับที่ดีมากจากประชาชน ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศได้มากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ต้องการแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก หลังจากที่รายได้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลขอพิจารณาสถานการณ์เป็นรายไตรมาสว่ายังมีความจำเป็นต้องขยายเวลาโครงการในลักษณะนี้ออกไปอีกหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าจะไม่ทำต่อ ยังมีโอกาส แต่หลักการที่เราจะดูคือ เวลานี้เศรษฐกิจของเราที่เคยอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศขณะนี้ยังไม่มีเข้ามาเลย ดังนั้นต้องใช้วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในก่อน เราจะดูไตรมาสต่อไตรมาส ยังไม่เคยบอกว่าจะไม่ทำต่อ ต้องดูว่ากำลังซื้อของประเทศดีขึ้นหรือไม่ และประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ถ้าได้ประโยชน์จริง รัฐบาลยินดีจะพิจารณา และยืนยันว่า มีเม็ดเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยขณะนี้ยังมีเงินเหลือจากในส่วนที่กู้มาตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส่วนที่มีความกังวลว่าถ้าสถานการณ์โควิดรอบนี้ยาวนานเกินกว่า 2 เดือนที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือในเบื้องต้นนั้น ขณะนี้คงไม่มีใครอยากเห็นภาพแบบนั้น ดังนั้นต้องพิจารณาใน 2 ส่วนควบคู่กันไปคือ ทำอย่างไรไม่ให้มีการระบาดมากไปกว่านี้ และจำกัดพื้นที่ให้ได้น้อยที่สุด ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องเศรษฐกิจ คือให้เศรษฐกิจยังสามารถเดินต่อได้ด้วย ซึ่งการระบาดในรอบใหม่นี้ถือว่าดีกว่ารอบก่อน เพราะรอบนี้มีความก้าวหน้าเรื่องวัคซีนที่จะนำมาใช้ ดังนั้นเชื่อว่าจะทำให้เกิดความมั่นใจได้มากขึ้นกว่าการระบาดรอบนี้จะไม่กินเวลายาวนาน และไม่ขยายวงกว้างมาก ถ้าทำได้สำเร็จ ไทยจะถือเป็นประเทศแรกๆที่สามารถทำให้เศรษฐกิจไม่ได้หยุดชะงักท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาด โดยความท้าทายของปีนี้ คือทำอย่างไรให้ทั้งสองเรื่องเดินไปด้วยกันได้ สังเกตดูว่าที่โควิดระบาดรอบนี้ แม้แต่ในพื้นที่สีแดง การใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งยังเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้หยุดชะงักไปหมด ยกเว้นแต่กิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเป็นจุดเสี่ยง เพราะคนทั่วไปยังต้องกิน ต้องใช้ ถ้าทำได้สำเร็จ เราจะเป็นประเทศแรกๆที่สามารถทำให้เศรษฐกิจกับเรื่องการแพร่ระบาดไปด้วยกันได้ "เชื่อว่าในการออกมาตรการแต่ละเรื่อง รัฐบาลรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนมาโดยตลอด สำหรับมาตรการชุดแรกที่ออกมานี้ ในระยะต่อไปอาจจะพิจารณาเพิ่มเติม โดยจะพยายามให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เช่น อาจจะมีการช่วยเรื่องมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา"