"บิ๊กตู่"เมิน"ศรีสุวรรณ"ร้องสอบ"กอ.ร.มน." ปมซื้อโซล่าร์เซลล์ 45 ล้าน ชี้เป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่ขอความเป็นธรรม"นายกฯ-รัฐบาล"บ้าง ด้าน"พิชัย"ยันเพื่อไทยเข้มแข็ง เตือนคนออกจากพรรคอย่าป่วน-อย่าคิดตกปลาในบ่อ เชื่อหากมีเลือกตั้งชนะขาด ขณะที่"นิกร"เผยเตรียมเร่งงานแก้รัฐธรรมนูญให้ทันก่อนปิดสมัยประชุม 28 ก.พ.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ม.ค.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นตรวจสอบกอ.รมน. กรณีการจัดซื้อแผงโซลาร์เซลล์ จำนวน 45 ล้านบาท อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ว่า ก็เรื่องของเขา ก็ไปตรวจสอบ ทุกคนมีสิทธิ์ร้องเรียนได้หมดตามกฎหมาย แต่ก็ให้ไปดูข้อเท็จจริงอย่าเพิ่งตัดสินใจว่ามันผิดหรือว่าถูก ซึ่งตนก็ยังไม่รู้เหมือนกัน แต่ทุกคนก็พูดได้หมด นี่คือประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ แล้วตนไปห้ามใครพูดหรือไม่ ห้ามได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ห้าม อยากจะพูดอะไรก็พูดไป อยากจะไปฟ้องใครก็ฟ้องไป ก็ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน แต่ขอให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลกับนายกฯบ้าง เราก็ไม่อยากไปใช้กฎหมายอะไรต่างๆ ให้มันเดือดร้อนกันไปทั้งหมด บางทีก็ต้องรักษาสิทธิส่วนบุคคลของตนบ้าง ฝ่ายกฎหมายเขาพิจารณาดำเนินการเป็นรายๆ ไปอยู่แล้ว ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ขอยืนยันพรรคเพื่อไทยเข้มแข็งและแข็งแกร่ง พรรคเพื่อไทยไม่ได้ปั่นป่วนตามที่มีกระแสข่าวการโจมตีพรรคแต่อย่างใด พรรคมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถครบทุกด้าน และมีคนรุ่นใหม่ที่เก่งและฉลาด พรรคมีแนวทางและหลักคิดที่ดี ซึ่งจะเป็นความหวังของประเทศและประชาชนได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ กระแสความสับสนน่าจะเกิดมาจากการสร้างกระแสของกลุ่มคนที่ออกจากพรรคไปแล้ว แต่พยายามสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้พรรคดูสั่นคลอน โดยอยากขอเตือนไปยังผู้ที่ออกจากพรรคไปและพยายามสร้างความปั่นป่วนให้กับพรรค ทั้งที่พรรคได้ให้โอกาส และเคยได้รับการสนับสนุนจากพรรคจึงไต่เต้าขึ้นมาได้ อย่าได้คิดอกตัญญูโดยการให้ร้ายพรรค เพราะจะสะท้อนภาพลักษณ์ที่แย่ไปหากลุ่มคนเหล่านั้นเอง เพราะที่ผ่านมาปัญหาของพรรคเกิดจากภาวะผู้นำและยุทธศาสตร์การบริหารที่ผ่านมาไม่สร้างความหวังให้กับประชาชน ความนิยมของพลเอกประยุทธ์ตกต่ำอย่างสุดๆแล้ว แต่กลับไม่สามารถทำตัวเองให้เป็นทางเลือกของประชาชนได้ พรรคจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น เพื่อให้เป็นความหวังของประชาชนได้ ซึ่งเชื่อว่าด้วยวิสัยทัศน์ที่พรรคได้แสดงออกหลังการเปลี่ยนแปลงการบริหารและจะยังจะมีนโยบายอีกหลายเรื่องตามมา ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ โดยอยากให้ยึดหลักศาสนาพุทธที่ต้องรู้จักกตัญญูรู้คุณและต้องมี หิริโอตตัปปะ หรือการละอายและการเกรงกลัวต่อบาป อย่าปากพูดอย่างแต่กลับมีการกระทำอีกอย่าง อย่าทำตัวเป็นก้อนหินถ่วงพรรค ออกไปแล้วก็ควรเอาเศษหินออกไปด้วย พรรคจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยไม่มีอุปสรรค ถ้าหวังดีกับพรรคจริงก็ควรจะออกไปด้วยกันโดยดี จากกันด้วยดี อย่าคิดจะมาตกปลาในบ่อของพรรค ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างมาก และขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการแตกสาขาไปพรรคอื่นแต่อย่างใด พรรคยังเป็นหนึ่งเดียวไม่มีสาขาและเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยหลักคิดและแนวทาง ประกอบกับประวัติศาสตร์ของพรรคที่พัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชนมาตลอด และมีนโยบายที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โอทอป SMEs SML ฯลฯ และพรรคจะมีนโยบายที่โดนใจประชาชนต่อเนื่องไปถึงอนาคต เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเพิ่มรายได้ของประชาชนและของประเทศ ที่เป็นจุดแข็งของพรรค การเปลี่ยนแพลตฟอร์มของประเทศทั้งของราชการและของเอกชน เป็นต้น ประกอบกับภาวะการบริหารประเทศที่ย่ำแย่ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในปัจจุบัน หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยจะชนะอย่างถล่มทลายแน่นอน ทางด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ..... รัฐสภา กล่าวว่า กมธ. จะกลับหารือตามระเบียบวาระปกติ วันที่ 21-22 ม.ค.นี้ ทั้งนี้มีวาระพิจารณาหารือก่อนเข้าสู่เนื้อหาที่ค้างพิจารณาคือ การปรับตารางการทำงาน หลังจากที่มีสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาการประชุม ทำให้วันทำงานของกมธ. หายไป 3 สัปดาห์ หรือจำนวน 6 วัน ดังนั้นจากเดิมที่กำหนดว่าปลายเดือนมกราคม ต้องทำให้แล้วเสร็จอาจต้องปรับเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการหารือของที่ประชุม เพื่อให้การพิจารณาและนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาให้ทันสมัยประชุม ที่จะปิดวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ อย่างไรก็ตามในการพิจารณาร่างกฎหมายนั้นตามข้อบังคับไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ดังนั้นหากในสมัยประชุมสามัญนี้ไม่ทัน อาจพิจารณาในช่วงสมัยประชุมวิสามัญได้ “ประเมินการทำงานของกมธ. แล้วคาดว่าจะเร่งกันพอสมควร เพื่อให้ทันในสมัยประชุมสามัญนี้ ซึ่งขณะนี้ยังมีประเด็นที่ค้างพิจารณาคือ เนื้อหาของการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อพิจารณาเนื้อหาจนเป็นข้อยุติแล้ว จะต่อด้วยการพิจารณาคำขอแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา ที่มีทั้งสิ้น 103 คน เบื้องต้นจะใช้การจัดกลุ่มเข้าชี้แจง เพราะในเนื้อหาของคำแปรญัตติแม้จะมีผู้เสนอจำนวนมาก แต่รายละเอียดเป็นคำแปรญัตติที่เหมือนกัน” นายนิกร กล่าว นายนิกร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาล กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 150 คน และมาจากการเลือกโดยอ้อม ผ่านองค์กรต่างๆ จำนวน 50คน ดังนั้นในการหารือวันที่ 21 ม.ค.นั้น ตนจะเสนอต่อที่ประชุมให้รับฟังความเห็นของตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถึงวิธีการคัดเลือกบุคคลให้เป็นส.ส.ร.