นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประชุมร่วมกับ 3 การไฟฟ้าในวันพรุ่งนี้ (13 ม.ค.)เพื่อกำหนดรายละเอียดและออกประกาศกรณีการปรับลดค่าไฟฟ้าตามมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันนี้ ซึ่งการลดค่าไฟฟ้าในรอบนี้คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 8,000 ล้านบาท โดย 3,000 ล้านบาทมาจากเงินที่ กกพ.ดูแล ซึ่งมาจากเงินลงทุนของ 3 การไฟฟ้าที่มีความล่าช้ากว่าแผน ส่วนอีก 5,000 ล้านบาทมาจากเงินเยียวยาที่กระทรวงการคลังดูแล สำหรับการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 2 เดือนครั้งนี้จะครอบคลุมทั้งประชาชน ผู้ประกอบการรายเล็ก-กลาง-ใหญ่ โดยการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดใหญ่นั้น เป็นมติเดิมที่มีอยู่แล้ว คือยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จนถึงเดือน มี.ค.64 ขณะที่ในส่วนของประชาชนที่เป็นบ้านขนาดเล็ก การช่วยเหลือในรอบที่แล้วกำหนดให้ใช้ไฟฟ้าฟรีทั้งหมด แต่รอบนี้กำหนดว่าให้ฟรีเฉพาะไม่เกิน 90 หน่วยเท่านั้น และภาพรวมได้ปรับปรุงให้ครอบคลุมถึงความเดือดร้อน และการใช้ไฟฟ้าที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน การไม่กระทบต่อรายได้รัฐ โดยคาดว่ารอบนี้จะใช้เงินเพียง 8 พันล้านบาทเท่านั้น จากรอบที่แล้วการช่วยเหลือใช้เงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่หากสถานการณ์การระบาดลากยาว กระทรวงฯก็จะค่อยมาพิจารณาเพิ่มเติมว่ามีมาตรการใดช่วยเหลือเพิ่มหรือไม่ ทั้งนี้ที่ประชุมครม.วันนี้(12 ม.ค.)อนุมัติหลักการมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ โดยในส่วนของการช่วยค่าไฟฟ้า 2 เดือน ในเดือนก.พ.-มี.ค. จะขยายช่วงการจัดเก็บโดยคิดราคาค่าไฟเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงแรก 1-500 หน่วย คิดราคา 3.24 บาท/หน่วย , ช่วง 501-1,000 หน่วย คิดราคา 4.22 บาท/หน่วย และช่วง 1,001 หน่วยขึ้นไป คิดราคา 4.42 บาท/หน่วย สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 150 หน่วยได้ใช้ไฟฟรี 90 หน่วยแรกทุกราย ส่วนผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย จะได้ปรับการคิดราคาเป็น 3 ช่วงดังกล่าว ขณะที่กิจการขนาดเล็กใช้ฟรี 50 หน่วยแรกทุกราย มาตรการนี้ครอบคลุมที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 23.7 ล้านราย