ยังคงเป็นวิกฤติกับพิษระบาดของโรคภัยไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนา 2019 ภายหลังจากเริ่มอาละวาดเขย่าโลกเรามาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 หรือ ค.ศ. 2019 อันเป็นที่มาของตัวเลขห้อยท้ายของชื่อไวรัสร้ายมหาภัยชนิดนี้ ที่นครอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน เป็นแห่งแรก ก่อนแพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทอดยาวมาตลอดช่วงปี 2563 ซึ่งถึง ณ พ.ศ.นี้ คือ 2564 เชื้อไวรัสมรณะยังคงคุกคามระบบสาธารณสุขโลกอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ 218 ประเทศทั่วภูมิภาคทุกมุมโลก ล้วนถูกไวรัสโควิดฯ พ่นพิษทำคนป่วย-ตายจำนวนมหาศาล อย่างที่โลกเราไม่เคยเผชิญหน้ากับวิกฤติโรคระบาดที่หนักหนาสาหัสเยี่ยงนี้มาก่อน ชนิดที่วิกฤติการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษก่อน ก็มิอาจเทียบเท่า ตามการติดตามจัดทำเป็นตัวเลขสถิติจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปรากฏว่า จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 90 ล้านคน ส่วนผู้ป่วยที่ไวรัสโควิดฯ ปลิดชีพมีจำนวนร่วม 2 ล้านคน กับสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกแล้ว ระลอกเล่า โดยหลายประเทศก็เผชิญกับการระบาดไปแล้วถึงระลอกสามกันไปก็มี พร้อมกับการกลายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ใหม่ ก็ยิ่งเพิ่มอารมณ์สะท้านขวัญโลกไปอีกประการหนึ่ง ยกตัวอย่าง ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “บี.1.1.7 (B.1.1.7)” จากเมืองผู้ดี ที่กำลังอาละวาดเขย่าขวัญไปทั่วโลก ณ ชั่วโมงนี้ ด้วยประการฉะนี้ ก็ทวีความหวังของชาวโลกให้ถวิลหา “วัคซีนป้องกัน” ที่บรรดาสำนัก สถาบันต่างๆ ประดามี พากันวิจัยพัฒนาเป็นหลากหลายขนานตามขั้วค่ายของบริษัทยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีด้านชีวภาพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นขนานของ “สปุตนิก-5 (Sputnik-v)” ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ ที่วิจัยพัฒนาโดย “สถาบันกามาเลยา” ประเทศรัสเซีย โดยวัคซีนขนานนี้ ทางการเครมลิน มอสโก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมาเคลมกล่าวอ้างว่า เป็นเจ้าแรกของโลก ในฐานะวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ ที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการันตีเรื่องประสิทธิภาพด้านการป้องกันเชื้อโรค และความปลอดภัย ภายหลังจากจรดเข็มฉีดเข้าสู่ร่างของมนุษย์แล้ว ตามมาด้วยวัคซีนสายพันธุ์แดนมังกร คือ จีนแผ่นดินใหญ่ ต้นกำเนิดของไวรัสมรณะ อย่าง “ซิโนแว็ก” เป็นต้น ถูกนำมาฉีดให้บุคลากรในกองทัพเป็นปฐม เพื่อโชว์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนกันอยู่ในที ส่งผลให้วัคซีนจากแดนมังกรขนานนี้ กลายเป็นขวัญใจของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ในฐานะวัคซีนที่มีราคาจับต้องได้ ไม่แพงจนเกินไป เมื่อเปรียบเทียบวัคซีนของบริษัทอื่นๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศตะวันตก นั่นคือ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ สหรัฐฯ ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทค เยอรมนี ซึ่งแม้เป็นที่นิยมในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยเครดิตเรื่องประสิทธิภาพด้านการป้องกัน แต่ก็มีราคาแพงและการจัดเก็บรักษายากกว่าวัคซีนขนานอื่นๆ รวมถึงการมีรายงานเรื่องอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง จนถึงแก่ชีวิตกันเลยก็มี โดยวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ได้รับการฉีดเป็นประเทศแรกโดยอังกฤษ ส่วนที่สิงคโปร์ ปรากฏว่า ให้ความไว้วางใจแก่วัคซีนขนานนี้ ถึงขนาด “นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง” ก็เข้ารับการฉีดวัคซีนขนานดังกล่าวเช่นกัน จนถูกยกให้เป็นผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หรืออาเซียน คนแรกที่รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ ของไฟเซอร์ นอกจากวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคแล้ว ก็ยังมีวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งวิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยวัคซีนขนานนี้ถือเป็นของฟากฝั่งอังกฤษ ก็เป็นอีกหนึ่งขนานที่ได้รับความสนใจจากเหล่าประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากราคาไม่แพงมาก และการจัดเก็บรักษาก็ง่ายของไฟเซอร์ฯ พร้อมกันนี้ ก็ยังมีวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สหรัฐฯ และไบเออร์ ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับเคียวร์ ซึ่งวัคซีนขนานหลังสุดถือเป็นวัคซีนจากแดนอินทรีเหล็ก คือ เยอรมนี โดยแท้ คาดว่าจะออกมาโลดแล่นแข่งขันบนสังเวียนวัคซีนโลก ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะผ่านพ้นการทดสอบทางคลินิกระยะที่สามไปแล้ว ใช่แต่เท่านั้น อีกขั้วค่ายหนึ่ง อย่างอิหร่านและคิวบา ก็ได้พยายามวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดฯ ในขนานของตนเองเช่นกัน โดยทางอิหร่าน ได้วิจัยพัฒนาวัคซีนที่มีชื่อว่า “โซเบรานา 2 (Soberana 2)” ที่ผ่านเฟส 2 เข้าเฟส 3 แล้ว ส่วนทางคิวบา วิจัยพัฒนาวัคซีนของตนถึง 4 ขนาน แต่ไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียด ล่าสุด ทั้งสองประเทศได้จับมือวิจัยพัฒนาร่วมกัน ว่ากันถึงกระแสความต้องการของประชาชาวโลก ก็ต้องบอกว่า ความปรารถนาที่จะได้รับการฉีดวัคซีนกำลังทวีเพิ่มขึ้นตามการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างจากบรรดาสำนักสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ของสำนักต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าวัคซีนยังต้องการระยะเวลาสำหรับการวิจัยพัฒนาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยอยู่ก็ตาม ไม่นับเรื่องที่ต้องพัฒนาแบบไล่ตามให้ทันกับเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ออกไปอีกต่างหาก โดยการสำรวจของอิปโซส ที่ทำโพลล์จากกลุ่มตัวอย่างจำนวนนับหมื่นทั่วโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า กระแสความถวิลหา ต้องการฉีดวัคซีนมีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จัดแบ่งเป็นกลุ่มสูง กลาง ต่ำ ได้ดังนี้ กลุ่มความต้องการฉีดวัคซีนเป็นอย่างสูง คือ ร้อยละ 70 ขึ้นไปถึงร้อยละ 78 ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และแคนาดา ลดหลั่นลงมาตามความต้องการ กลุ่มความต้องการฉีดวัคซีนระดับกลาง คือ ร้อยละ 60 – 69 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี สเปน และญี่ปุ่น ขณะที่ กลุ่มความต้องการฉีดวัคซีนระดับต่ำ คือ ร้อยละ 40 – 55 ได้แก่ แอฟริกาใต้ รัสเซีย และฝรั่งเศส ตามลำดับ