"สำนักช่างสิบหมู่"เผยแบบพัดรอง-ย่ามถวายพระจีน เครื่องสังเค็ดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9
นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพัดรอง ย่ามที่ระลึกถวายแด่พระจีนนิกายและอนัมนิกาย ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า พัดรองเครื่องสังเค็ดถวายพระภิกษุในงานพระราชพิธีครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พัดรองงานออกพระเมรุมาศ พัดรองงานฉลองพระบรมอัฐิ และพัดรองถวายแด่พระจีนนิกายและอนัมนิกาย ทั้งนี้ ตนได้รับมอบหมายให้ออกแบบพัดรองถวายพระจีนนิกายและอนัมนิกาย โดยออกแบบรูปทรงตามแบบพัดจีน ด้านหน้าพัดรองตรงกลางอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ภายใต้อุณาโลม และพระมหาพิชัยมงกุฎ ดูเด่นเป็นสง่า สื่อรัชกาลที่ 9 พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. มี 3 สี ได้แก่ สีเหลืองสื่อถึงพระองค์ท่าน สีขาวเพื่อแสดงถึงความหลุดพ้น สีน้ำเงินสื่อถึงพระมหากษัตริย์ทรงพระบรมเดชานุภาพเป็นล้นพ้น พื้นหลังพระปรมาภิไธยย่อเป็นสีน้ำเงินเข้ม แสดงถึงกษัตริย์ผู้ทรงเป็นราชาธิราช ในส่วนอุณาโลมถือเป็นเครื่องหมายแห่งมงคล รอบวงกลมเป็นลวดลายกลีบบัวแสดงถึงพระองค์ปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ถัดจากกลีบบัวเป็นตัวเลข ๙ แผ่โดยรอบ สื่อรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแผ่ไพศาลทั่วทุกภูมิภาคยังความร่มเย็นเป็นสุขให้ประชาชน
นายเกียรติศักดิ์ กล่าวอีกว่า นมพัดเป็นรูปพญาครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ พัดรองนี้ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ อีกนัยหนึ่งสื่อถึงรัฐบาลไทยและประชาชนทั้งชาติร่วมแสดงความอาลัยและส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ ต้นแบบพญาครุฑจากผลงานตาลปัตรในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี รัชกาลที่ 9 ในครั้งนั้นตนออกแบบพัดรองที่ระลึกถวายพระภิกษุ รวมถึงพัดรองงานออกพระเมรุมาศรัชกาลที่ 8 ส่วน อักษรเลขไทยด้านซ้ายของนมพัดเป็นปี พ.ศ.๒๔๗๐ สื่อถึงปีพระราชสมภพ ด้านขวาเป็นปี พ.ศ.๒๕๕๙ ปีเสด็จสวรรคต ในส่วนของขอบพัดล้อด้วยลวดลายหน้ากระดานแสดงถึงลายไทยประกอบพระราชพิธี เส้นสายลักษณะนี้จะทำให้แบบพัดรองดูนุ่มนวลยิ่งขึ้น ตัวพื้นของสีผ้าพัดรองเป็นสีแสดสื่อวันสวรรคต วันที่ 13 ตุลาคม 2559 สำหรับวัสดุที่ใช้จัดทำตาลปัตรพัดรองครั้งนี้ตัวพื้นเป็นผ้าไหมสีแสด นอกจากนี้ได้ออกแบบย่ามถวายคู่กับพัดรองจัดวางองค์ประกอบให้ล้อกัน
"จุดศูนย์กลางพัดรองพระมหาพิชัยมงกุฎ อุณาโลม กลีบบัว เลข ๙ จะปักด้วยดิ้นทอง เมื่อพระจีนและพระญวนใช้ในพระราชพิธีจริง เมื่อต้องแสงดิ้นทองจะส่องประกายและมีรัศมีเรืองๆ ออกจาก ภปร. สื่อพระบารมีของพระองค์ท่าน ส่วนที่ออกแบบเป็นสีขาวปักดิ้นมุก พื้นพระปรมาภิไธยย่อปักดิ้นสีน้ำเงิน ตัวอักษร ภปร.จะปักให้มีความโค้งนูนดูมีมิติ โดดเด่นในระยะไกล ส่วนนมพัดรูปครุฑใช้เทคนิคสลักดุนโลหะ เป็นงานประติมากรรมนูนต่ำ รัศมีหลังชฎาครุฑจะลงยาสีแดง ขอบสีน้ำเงิน ล้อกับสีตรงกลาง ส่วนขอบวงพัดด้านนอกสุดที่เป็นสีทองจะขลิบด้านหน้าและหลังด้วยดิ้นทอง แต่เฉดสีทองจะอ่อนลงมา ด้ามพัดในส่วนคอและปลายเป็นโลหะกลึง ตัวด้ามเป็นไม้เนื้อแข็งทำสีน้ำตาลไหม้ ด้านหลังพัดรองเป็นพื้นผ้าสีแสด ไม่มีปักลวดลายใดๆ ได้ส่งแบบให้สำนักพระราชวังและส่งแบบให้ร้านวิบูลย์ศิลป์ ซึ่งมีประสบการณ์ทำเครื่องสังเค็ดงานพระเมรุมาศ เพื่อผลิตตัวอย่างพัดรอง จัดทำต้นแบบพร้อมๆ กับพัดรองอีก 2 ประเภท" นายเกียรติศักดิ์ กล่าว