หลังจากยูทูบเบอร์สาวชื่อดัง พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ พิมรี่พาย ได้โพสต์คลิปเดินทางไปที่หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พร้อมควักเงินส่วนตัว 5 แสน ช่วยเหลือเด็กบนดอย ได้มีคอมเมนต์หนึ่งระบุว่า พิมรี่พาย ไม่จำเป็นต้องไปมอบความเจริญ+ไฟฟ้า ให้คนอมก๋อยเลย เพราะเวลานี้กำลังมี 3 โครงการยักษ์ ประกอบด้วย กฟผ. เตรียมสร้างโครงข่ายสายไฟฟ้า กรมชลประทาน ดันโครงการ อุโมงค์ผันน้ำ ปูนซิเมนต์ไทย ขอสัมปทานเหมืองถ่านหิน ไม่ไกลจากบ้านแม่เกิบ ที่ไปบริจาค แต่ปัญหาคือ ทั้ง 3 โครงการกำลังจะเอาทรัพยากรของคนอมก๋อย ไปให้คนที่อื่นใช้ทั้งสิ้น ในเรื่องนี้ นายพรมงคล ชิดชอบ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการ 1 กรมชลประทาน ในฐานะเลขาธิการกำกับงานจ้างศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล กล่าวชี้แจงว่า เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา เขื่อนภูมิพลประสบปัญหาภัยแล้ง โดยปีนี้มีน้ำเพียง 10% ซึ่งเห็นว่าแม่น้ำยวมเป็นแม่น้ำภายในประเทศ ปากแม่น้ำอยู่ที่.แม่ฮ่องสอนก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน แต่พบว่า ไม่มีการใช้น้ำมากนักเพราะอยู่ในเขตป่า จึงมีแนวคิดที่จะผันน้ำบางส่วนในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำมาก มาเติมเขื่อนภูมิพล ทั้งนี้ แนวผันน้ำเริ่มที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งจะผ่านอมก๋อย และไปลงปลายที่อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ส่วนประเด็นที่เอาทรัพยากรของชาวอมก๋อยไปใช้นั้น อุโมงค์ผันน้ำจะผ่านพื้นที่ป่า อาจจะมีผลกระทบบ้าง บริเวณที่เจาะเป็นทางเข้า-ออก ในช่วงการก่อสร้าง แต่เมื่อสร้างเสร็จก็จะมีการปิดทางเหล่านี้ โดยมีการปรับภูมิทัศน์ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลฯ ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ อย่างไรก็ตาม เรามีการดำเนินการตามกระบวนการทุกขั้นตอน และมีเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอ.ออมก๋อย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการ 1 กล่าว ทั้งนี้ นายพรมงคล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ชาวอมก๋อยจะได้รับจากโครงการนี้ คือ ความมั่นคงด้านไฟฟ้า เพราะช่วงการดำเนินการก่องสร้างอุโมงค์ผันน้ำ จะมีเดินสายไฟ ขยายต่อเขอตไฟเพื่อใช้กับหัวขุดเจาะ แต่คนที่มาบอกว่าไม่ต้องการไฟ ไม่รู้ว่าพูดแทนชาวอมก๋อย หรือคนอมก๋อยไม่ต้องการจริงๆ หากไม่ต้องการ เราก็จะติดตั้งไฟแบบชั่วคราว เมื่อเสร็จก็ทำการรื้อถอน เชื่อว่าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน นอกจากนี้ จะมีการศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำท้องถิ่น โดยเราจะจัดทำแผนให้ หากชาวอมก๋อยมีความต้องการ เพราะอุโมงค์ผันน้ำอยู่ใต้ดินไม่ได้เจาะเพื่อให้ชาวอมก๋อยได้ใช้โดยตรง