อุทยานท้องฟ้ามืดสากลแห่งที่สองของญี่ปุ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนสากล โดดเด่นทั้งธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ชายหาดน้ำทะเลสีฟ้างดงาม และท้องฟ้ายามค่ำคืนที่มืดมิดสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ บนฟากฟ้าได้อย่างดี ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวเกาะที่ลดใช้แสงสว่างไม่จำเป็น เปลี่ยนหลอดไฟให้มีสีที่เหมาะสม คุมทิศทางลดแสงกระจายขึ้นฟ้า ส่งเสริมการท่องเที่ยวอนุรักษ์-ดาราศาสตร์ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ #เกาะโคซุชิมะ อุทยานท้องฟ้ามืดสากล แห่งที่สองของญี่ปุ่น "เกาะโคซุชิมะ" (Kozushima Island) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "อุทยานท้องฟ้ามืดสากล" (International Dark Sky Park) ตามข้อกำหนดของสหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากล (International Darksky Association : IDA) นับเป็นอุทยานท้องฟ้ามืดสากลลำดับที่ 2 ของญี่ปุ่น ต่อจากอุทยานแห่งชาติอิริโรโมเตะ-อิชิกาคิ จังหวัดโอกินาวะ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนประเภทนี้ เกาะโคซุชิมะ เป็นเกาะขนาดเล็กห่างจากเมืองหลวงโตเกียว ประมาณ 180 กิโลเมตร มีประชากร 1,900 คน ในพื้นที่ 18.58 ตร.กม. มีความโดดเด่นทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ ชายหาดและน้ำทะเลสีฟ้าอันงดงาม จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจอย่างมากในญี่ปุ่น การเข้าร่วมเป็นอุทยานท้องฟ้ามืดสากลดังกล่าว เริ่มจากชุมชนในเกาะโคซุชิมะร่วมกันผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ ร่วมกันกำหนดมาตรการการใช้แสงสว่างภายนอกอาคารและเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2562 อย่างจริงจัง เช่น การลดการใช้แสงสว่างที่ไม่จำเป็น การจัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณะ การเปลี่ยนหลอดไฟถนนกว่า 400 หลอด ให้มีอุณหภูมิสีที่เหมาะสม และควบคุมทิศทางของแสงให้ถูกต้อง เพื่อลดแสงฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่ไม่กระทบต่อการสัญจรและความปลอดภัยในเวลากลางคืน ฯลฯ ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยให้จัดการแสงสว่างบนเกาะโคซุชิมะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ท้องฟ้าในเวลากลางคืนมืดจนสามารถสังเกตวัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่างน้อยๆ ได้ดี ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ IDA ประเภทอุทยานท้องฟ้ามืดสากล ปัจจุบัน มีสถานที่กว่า 150 แห่งทั่วโลกเข้าร่วมเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสากล หลายประเภทแตกต่างกัน การเข้าร่วมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการรณรงค์ให้เกิดการลดมลภาวะทางแสง ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สุขภาพของมนุษย์ และการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดยามค่ำคืน ให้คงความสวยงาม ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในสถานที่นั้นอีกด้วย และในปี พ.ศ. 2564 นี้เอง NARIT ในฐานะหน่วยงานด้านดาราศาสตร์ของประเทศ ก็ได้เดินหน้าโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย เพื่อให้เกิดอุทยานท้องฟ้ามืดสากล และเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดในประเทศ ที่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ต่อไป ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ อ้างอิง : [1] https://www.darksky.org/kozushima-recognized-dark-sky-park/ [2] https://darksky.app.box.com/.../dval2xwcfvehxigr41adclwnn... เรียบเรียง : เจษฎา กีรติภารัตน์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.”