วันที่ 11 ม.ค. 64 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทเหมืองทองคำอัครา ระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย กับรัฐบาลไทย ที่อยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ว่า ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ช่วงเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยผลการเจรจากับ บริษัท คิงส์เกตฯ ค่อนข้างมีความชัดเจนว่า จะจบลงด้วยดี มีแนวโน้มการถอนฟ้องรัฐบาลไทย และกลับมาลงทุนในไทยอีกครั้ง ภายใต้นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 โดยบริษัท คิงส์เกตฯ อาจจับมือกับนักลงทุนไทยเพื่อลงทุนครั้งใหม่นี้ด้วย แต่ต้องรอผลการเจรจาในภาพรวมอีกครั้ง "แนวโน้มการเจรจาเป็นไปด้วยดี และคาดว่า จะได้ข้อยุติช่วงกลางปีนี้ จากเดิมจะได้ข้อยุติต้นปีนี้ เพราะต้องมีการประสานงานในบางละเอียดเพิ่มเติมและรอบด้าน ทั้งนี้หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ หลักการในการต่อสู้ของกระทรวงอุตสาหกรรมมาจากความต้องการดูแลประชาชนคนไทยไม่ให้รับผลกระทบจากการทำเหมืองดังกล่าว ดังนั้นจะไม่มีการจ่ายค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้นในทุกกรณี"รายงานข่าวระบุ แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขั้นตอนล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาหาข้อยุติตามกรอบที่รัฐบาลได้ให้ไว้หลังจากได้ส่งเอกสารอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศทั้ง 2 ฝ่ายเรียบร้อยแล้ว หากเจรจาประสบผลสำเร็จจะได้ข้อยุติคดีก่อนที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำสั่ง แต่ถ้าเจรจาไม่ได้ข้อยุติ ก็ต้องรอฟังคำสั่งของอนุญาโตตุลาการต่อไป ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ยืนยันต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่า ไม่เคยออกคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของบริษัทอัคราฯ หรือสั่งปิดเหมืองเลย เพียงแต่ไม่ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม หรือโรงแต่งแร่ทองคำ และประทานบัตรบางแปลงที่หมดอายุลง เนื่องจากมีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จึงชะลอการต่ออายุจนกว่าจะได้ข้อยุติเรื่องสิ่งแวดล้อม “รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นสิทธิ์ที่รัฐบาลทำได้เพื่อปกป้องคนในประเทศ แต่ในกรณีเหมืองทองคำของอัคราฯ ไม่ได้สำรวจตรวจวัดค่าโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม และในเลือดของประชาชนในพื้นที่มาก่อน จึงไม่มีค่าเดิมมาอ้างอิงกว่าโลหะหนักที่พบเกิดจากการทำเหมืองได้ ไม่ได้ข้อสรุปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ถ้าอัคราฯ ต้องการกลับมาทำเหมืองแร่ สามารถทำได้ ให้มายื่นตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ซึ่งมีการกำหนดให้ผู้ขอประทานบัตรและโรงแต่งแร่จะต้องตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อทำเป็นค่ากลางสำหรับตรวจสอบว่าเหมืองแร่ได้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งจะตรวจสอบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทุกปีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อชุมชน”แหล่งข่าว กล่าว