กอนช.ประเมินฝนภาคใต้ตอนล่างลดลงต่อเนื่อง วางแผนปรับลดการระบายน้ำ“เขื่อนบางลาง”จ.ยะลา สอดคล้องสถานการณ์ เน้นความปลอดภัยเขื่อนและลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วมด้านท้ายน้ำในแม่น้ำปัตตานี เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะที่จังหวัดยะลาและปัตตานี ล่าสุดวันนี้ (10 ม.ค.64) กอนช. ประสานจังหวัดยะลา ปัตตานี กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดยะลา และปัตตานีที่จะได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ โดยล่าสุดพบว่าขณะนี้ไม่มีฝนตกในพื้นที่แล้วแต่ยังคงได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทย ปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ณ วันที่ 10 มกราคม 2564 เวลา 06.00น. มีปริมาณน้ำ 1,439 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 99 ของระดับน้ำเก็บกัก อยู่ที่ระดับ 114.72 เมตรของระดับน้ำทะเลปานกลาง มีน้ำไหลลงเขื่อน 177 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปัตตานีในลักษณะขั้นบันไดจากเดิมที่ระบายสูงสุดในวันที่ 6 มกราคม 2564 ปัจจุบันระบายในอัตรา 470 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะปรับลดการระบายลงเรื่อยๆ จนคงเหลือเพียงการระบายผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามแผนเดิมในอัตรา 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีหรือคิดเป็นปริมาณน้ำวันละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปัตตานี กรมชลประทานได้ใช้ระบบชลประทานในการหน่วงน้ำ ชะลอน้ำ พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำช่วงน้ำทะเลลด เพื่อช่วยลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม โดยการควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนปัตตานี ในอัตรา 42.13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และระบายผ่านทางประตูระบายน้ำฉุกเฉินอีกประมาณ 3.31 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมกับตัดยอดน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 สาย รวมกันประมาณ 4.33 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งได้บริหารจัดการน้ำด้านท้ายเขื่อนปัตตานี โดยใช้ประตูระบายน้ำปรีกี ควบคุมการระบายน้ำสลับกับการระบายน้ำผ่านแม่น้ำปัตตานีและคลองตุยงเป็นช่วงๆ ปัจจุบันยังมีน้ำล้นตลิ่งที่บริเวณบ้านหัวสะพาน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ประมาณ 1.40 เมตร ลดลง 0.50 เมตร และบริเวณบ้านท่าสาบ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ประมาณ 1.50 เมตร ลดลง 0.30 เมตร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจำนวน 7 อำเภอ 50 ตำบล 246 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,082 ครัวเรือน และน้ำล้นตลิ่งที่บริเวณบ้านปรีกี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ประมาณ 0.6 เมตร ระดับน้ำทรงตัว มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจำนวน 7 อำเภอ 16 ตำบล 101 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,082 ครัวเรือน ทั้งนี้ กอนช. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการหน่วงน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนบางลางโดยการเก็บกักน้ำเพิ่มให้ได้มากที่สุดโดยคำนึงถึงความมั่นคงตัวเขื่อนด้วย นอกจากนั้นยังให้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนบางลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณน้ำหลากในแม่น้ำปัตตานีที่ไหลไปยังด้านท้ายน้ำบริเวณจังหวัดยะลาและปัตตานี โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถลดระดับน้ำแม่น้ำปัตตานีให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในวันที่ 12 มกราคม 2564