บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) วิกฤติชาติหลายอย่างที่ปนเป (1) ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเมือง วิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา(Covid-19) ที่ยังมีวิกฤติรองที่นับได้อีกเช่น วิกฤติในความเชื่อมั่นของรัฐ ทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังการเลือกตั้ง อบจ. ที่กำลังจะตามมาอีกหลายระดับในเทศบาล อบต. เมืองพัทยา และ กทม. หรือ วิกฤติการบริหารจัดการภาครัฐในการจัดการแรงงานต่างด้าว การทุจริตคอร์รัปชัน การปราบส่วยสินบนฯ รวมถึงการสนใจกลุ่มคนเปราะบาง (vulnerable persons) ด้อยโอกาสทุกกลุ่ม รวมทั้งคนต่างด้าว หรือ “คนข้ามชาติ” ในฐานะที่เป็นมนุษย์ในสังคมโลกคนหนึ่งให้มากขึ้นด้วย ฯลฯ เป็นต้น เพราะเหล่านี้คือจุดสนใจของชาวบ้านคนทั่วไปในรอบปีใหม่นี้ (2) ด้วยความเชื่อของโซเชียลว่า โรคติดเชื้อโควิดรอบที่สองครั้งนี้เกิดจาก (1) การแพร่ระบาดจาก แรงงานข้ามชาติ (ต่างด้าว) ที่ผิดกฎหมายเข้าประเทศ (2) การแพร่ระบาดเกิดจากบ่อนการพนัน ซึ่งการระบาดติดเชื้อครั้งแรกก็ตั้งต้นมาจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐใน “การป้องกัน-ควบคุม” โดยเฉพาะแหล่งการพนันทั้งที่เป็นบ่อนถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ตามในธุรกิจสีเทาสีดำต่างๆ คือ สนามมวย บ่อนการพนัน ชนไก่ ชนโค ที่ยังไม่นับการจัดงานเลี้ยงงานแต่งงานของชาวบ้าน งานเวทีคอนเสิร์ต การชุมนุมเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยต่างๆ ตลาดสด รถโดยสารสาธารณะ ฯลฯ เพราะเหล่านี้เป็นแหล่งที่ชุมนุมของคนหลากหลายจำนวนมาก ที่รัฐต้องมีมาตรการแก้ไข แต่ที่ผ่านมารัฐกลับใช้มาตรการ “ควบคุม” (control) มากกว่ามาตรการ “ป้องกัน” (protect) ซึ่งมีต้นทุนการบริหารจัดการที่แพงกว่า ยุ่งยากกว่า ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาต้องรับภาระที่หนักขึ้น ทั้งนี้ มาตรการควบคุมต้องนำมาตรการการป้องกันมาใช้ควบคู่กันไปด้วย เพราะตอนนี้เป็นวิกฤตที่ต้องระดมสรรพกำลังให้ผ่านพ้น การนำเสนอข่าวที่ตรงไปตรงมา ไม่ปิดบัง เป็นสิ่งสำคัญ เจ้าหน้าที่รัฐการ์ดตกไม่ใช่ประชาชนการ์ดตก (1) จากข้อสรุปที่ตรงกันข้างต้นต้นตอโควิดระลอกสองได้มาลงที่เจ้าหน้าที่ของรัฐว่า “การ์ดตก” โดยเฉพาะฝ่ายอำนาจรัฐผู้รับผิดชอบ ทั้ง ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง และ ฝ่ายทหาร คือ (1) การลักลอบนำแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเข้าประเทศ ใครต้องรู้รับผิดชอบ กองกำลังทหาร ด่านตรวจคนเข้าเมืองตามชายแดน และตามจุดตรวจมีทุกพื้นที่ ควบคุมทุกด้านตามชายแดนไทย แล้วแรงงานเถื่อนลักลอบ เข้ามาได้อย่างไร (2) บ่อนพนัน ใครต้องรู้ใครต้องรับผิดชอบ บทสรุปหนีไม่พ้นมาลงที่คำว่า “มีส่วย” หรือ “สินบนเงินใต้โต๊ะ” (Bribery) ในคนที่เห็นแก่ตัวบางคน และเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน บางกลุ่มที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อย่าได้โทษประชาชนชาวบ้านว่าการ์ดตก ถึงเวลาหรือยังที่ต้องดึงธุรกิจสีเทาเหล่านี้ขึ้นมาให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือให้มี “คุณธรรมและความโปร่งใส" (Integrity & Transparency) ที่มากขึ้นในสายตาของชาวโลก เพราะมันคือต้นตอของ “การทุจริตคอร์รัปชัน” (Corruption) นั่นเอง (2) จากสถิติข้อมูลการติดเชื้อและผู้ป่วยผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปีนี้ เป็นจำนวนยอดถึงหลักร้อยหลักพัน ที่มีข่าวการระบาดในหลายสายพันธุ์ใหม่ๆ ทั้งสายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์อังกฤษ กล่าวคือ มีเชื้อกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเดิม ข้อมูล ณ ปัจจุบันแพร่เชื้อระบาดไปแล้ว 56 จังหวัด (73.68%) โดยเฉพาะจาก “จังหวัดสมุทรสาคร” ที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติสูงมาก มีการพบจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากถึง 900 คนในโรงงานอาหารกระป๋องทะเลแห่งหนึ่ง และจังหวัดที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐต้องประกาศ “จังหวัดควบคุมสูงสุดใน 5 จังหวัด” ในการแยกพื้นที่ควบคุมตามลำดับ 4 โซนคือ สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2564 เช่น การปิดสถานศึกษาในสังกัด อปท. หรือมีการใช้มาตรการเข้มข้นต่างๆ แต่ไม่ใช่การ Lock down ที่หมายถึงการปิดเมืองห้ามประชาชนและทุกภาคส่วนทำกิจกรรมต่างๆ แต่ก็เป็นเพียงวาทกรรมของภาครัฐเท่านั้น เนื้อแท้ก็คือการ “Lock down” โดยรัฐใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ 2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายหลักเพื่อควบคุมสถานการณ์ฯ นั่นเอง ที่ส่งผลให้การดำเนินการทางธุรกิจและชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน ซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจให้ทรุดลงไปอีก รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน (1) เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯ ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคตามกฎหมายยังปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบกฎหมายต่อไป เชื่อว่า ตามวัฏจักรระบาดวิทยา (Epidemiology) ของโรคระบาด นั้น หากประชาชนมีภูมิคุ้มกันมีจำนวนมากพอ (Herd Immunity or Community Immunity) โรคระบาดก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไป จะหยุดการแพร่ระบาดลงเท่านั้น การหยุดล็อกดาวน์ปิดเมืองจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปซ้ำเติมชาวบ้านในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เพราะการระบาดรอบที่สอง (Second Wave) นี้เชื้อโควิดก็ยังไม่ได้หายไปไหนมันจะอยู่กับเราไปอีกนานเราหลายเดือน วัคซีนก็ยังไม่มีมา ท่ามกลางสงครามข่าวสารไอโอ (Information Operation) ที่เข้มข้น ทั้งฝ่ายเขาฝ่ายเรา แม้จะมีคนมองว่าภายใต้ภาวะวิกฤตกดดันเช่นนี้ ไอโอของคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าฝ่ายประชาธิปไตยอาจชั้นเชิงเหนือกว่า ลึกซึ้งกว่าฝ่ายรัฐสักเล็กน้อยก็ตาม แต่ฝ่ายรัฐก็ต้องออกแรงทำคะแนนไว้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะ “ความเชื่อมั่นเป็นที่น่าเชื่อถือต่อภาครัฐ” (Credit) ฉะนั้น รัฐและประชาชนจึงต้องพร้อมใจกัน เรียนเอาข้อเรียนรู้นั้น มาทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น สามารถอยู่กับเชื้อโควิดให้ได้ ทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกไม่เหมือนเดิม ถือเป็นวิถีชีวิตใหม่ “New normal” ที่แปรผันเปลี่ยนแปลง disruptive ไปตามโลกที่รวดเร็วมากให้ได้ (2) เรื่องวัคซีนป้องกันปราบโควิดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะวัคซีนเป็นทางออกของวิกฤตทำให้วันสิ้นสุดของการระบาดใหญ่มาถึงเร็วขึ้น ในขณะที่ต่างประเทศต่างชิงกันจัดสรรหาวัคซีนมาให้ประชาชนของตนเองในการป้องกัน เป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนารมณ์จัดสรรการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการ มีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ที่รัฐบาลได้สั่งจองวัคซีนกับบริษัทแอสตราเซเนกาไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ บุคคลากรทางการแพทย์ อสม. ผู้สูงอายุราว 13 ล้านคนที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนกลุ่มอื่นได้ภายในก่อนกลางปี 2564 นี้ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือแบบจ่ายเงินให้เปล่าแก่ประชาชนทุกคนในการดำรงชีพช่วงขาดงานขาดอาชีพขาดรายได้ ด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายจากเงินกู้ที่รัฐบาลได้เตรียมไว้แล้วในจำนวนที่สูงมากพอแล้วถึงจำนวนราว 1.5 ล้านล้านบาท และปัจจุบันคงมียอดเงินคงเหลืออยู่ถึงราว 6.55 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้เยียวยาประชาชนและ SMEs ได้ แรงงานข้ามชาติยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย (1) จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีความต้องการในการใช้แรงงานข้ามชาติสูงในธุรกิจอาหารทะเล และการประมง เพราะเป็นการใช้แรงงานที่คนไทยไม่สมัครใจทำงานประเภทนี้กัน โดยเฉพาะงานเสี่ยง “3 D” คือ งานลำบาก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานอันตราย(Danger) ปัญหาแรงงานข้ามชาติเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายแท้จริงแล้วมิใช่ปัญหาใหม่แต่อย่างใด แต่สังคมเพิ่งเริ่มให้ความสนใจเนื่องจากเป็นต้นตอของปัญหาการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จากข้อมูลพบว่า การประกาศล็อกดาวน์ในครั้งก่อนสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ ผู้ประกอบการหลายคนยังไม่สามารถฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ในครั้งก่อนได้ ขณะนี้เชื้อโควิด-19 ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และกำลังเข้าสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่ระลอกสอง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียจากการระบาดรอบใหม่คิดเป็นมูลค่าราว 4.5 หมื่นล้านบาทในกรอบเวลา 1 เดือน แน่นอนว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้คนตกงานมาก การทำมาหากินยากลำบาก กำลังซื้อของประชาชนลดลง หนี้สินและหนี้เสียส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น เหมือนสภาพวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อ “ปัญหาปากท้อง” ของชาวบ้านเกิดปัญหาสังคมตามมาโดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมที่สูงขึ้น (2) การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องถึงความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ซึ่งหากติดตามข่าวที่เกี่ยวกับวงการสีกากีจะมีข่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงจรแรงงานข้ามชาติเถื่อนเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งแท้จริงแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมแรงงานข้ามชาติไม่ได้มีเพียงแค่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้น แต่ยังมีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัด ศูนย์บริการจดทะเบียนแบบเบ็ดเสร็จ กระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงหน่วยทหารด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหลายหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบเรื่องแรงงานข้ามชาติ แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่สามารถแก้ไขได้และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที ก็เพราะการยังคงมีระบบ “ส่วย” อยู่จึงทำให้ไม่สามารถจับกุมหรือแก้ไขปัญหาแรงงานเถื่อนได้นั่นเอง (3) อีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับการหลั่งไหลเข้าประเทศของแรงงานข้ามชาติเถื่อน (Migrant workers/ Labor) ก็คือ ปัญหาการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นใช่หรือไม่ ความแตกต่างในระดับค่าครองชีพของรัฐต่อรัฐ ที่ทำให้มีความต้องการแรงงานจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาติใกล้เคียงที่หลั่งไหลเข้ามางานงานทำ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านไทย เช่น ประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ปัญหาที่แก้ไม่ตกในประเทศไทยล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกับคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น เป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยมานานหลายทศวรรษแล้ว สินบน ส่วย เงินใต้โต๊ะเป็นตัวถ่วง (1) การให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ส่วย” หรือ “เงินใต้โต๊ะ” ยังพบข่าวตามสื่อมวลชนและหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการโดยมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาการฟอกเงิน (Money Laundering) ด้วยธุรกิจนอกระบบที่มีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เช่น การใช้บัญชีธนาคารในต่างประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองความลับลูกค้า การเปิดรีสอร์ต ที่พักบังหน้าเพื่อใช้เป็นสถานที่ฟอกเงิน การนำเงินไปทำหมู่บ้านจัดสรร การซื้อขายที่ดิน ทองคำ รถยนต์หรู ก่อนจะขายทอดตลาดในราคาขาดทุน และนำเงินนอกระบบให้กลับเข้าสู่ในระบบ (2) มีแนวคิดมากมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการรับส่วยของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะแนวคิดที่ว่า การเพิ่มเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถแก้ปัญหาการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่มีเงินเพียงพอจะใช้จ่ายย่อมไม่กระทำการทุจริต แต่หากมองอีกด้านหนึ่งของสังคมจะเห็นว่า แม้เป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนระดับสูงก็ยังมีการทุจริตและรับสินบน ในขณะเดียวกันเงินเดือนที่สูงขึ้นอาจเป็นตัวเพิ่มเงินสินบนให้สูงขึ้นตามไปด้วย ปัญหาเหล่านี้คงแก้ไขได้ยากยิ่ง ตราบใดที่ข้าราชการน้ำดียังเป็นชนกลุ่มน้อยในวงการราชการ และถูกกดดันด้วยอิทธิพลหรือคุกคามทางชีวิตจากผู้มีอิทธิพล หน่วยงานรัฐยังขาดมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอย่างมีประสิทธิภาพ และยังพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้แจ้งเบาะแสถูกกลั่นแกล้งดำเนินการทางวินัย อีกทั้งไม่บ่อยนัก ที่คนทุจริตจะถูกเปิดโปงและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย รัฐต้องมีมาตรการแรงงานเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ (Transnational Labor or Migrant Workers) ที่เหมาะสมทันสมัย โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผล โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานข้ามชาตินั้น รัฐต้องมีแผนการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะต้องยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจของไทยยังต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวจำนวนมากกลุ่มนี้ไปอีกนาน ระบบในการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจหรือแม้แต่ไม่เอื้อสำหรับครัวเรือนไทยนี้ รัฐต้องมีแผนการปรับปรุงเสียใหม่อย่างจริงจัง เรื่องนี้ต้องการมุมมองที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่อย่างมากและต้องเริ่มคิดกันอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้แล้ว ยังไม่สายเกิน