ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล หลายคนเกิดมาเพื่อตัวเอง แต่บางคนเกิดมาเพื่อคนอื่น อาจารย์พรพิมลโทรศัพท์หาผมในวันหนึ่งตอนปลายปี 2533 บอกว่ามีเรื่องให้ผมช่วย ผมบอกว่าตอนนี้ใกล้จะปรับคณะรัฐมนตรี ตอนนั้นผมช่วยราชการอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะ ดร.สุบิน ปิ่นขยัน ถูกย้ายจากกระทรวงพาณิชย์มาที่นี่ และก็มีข่าวว่า ดร.สุบินอาจจะถูกปรับออกจากตำแหน่ง ผมจึงตอบพี่จิ๊บ(อาจารย์พรพิมล)ว่า “เดี๋ยวคงได้เจอกัน” แล้วในเดือนธันวาคมปี 2533 นั้นเองก็มีการปรับคณะรัฐมนตรี ในพรรคกิจสังคมก็มีการหมุนเวียนคนอื่นขึ้นมาแทน ดร.สุบิน ผมจึงได้กลับมาเริ่มทำงานที่ มสธ.อีกครั้ง ผมได้เจอกับพี่จิ๊บในวันหนึ่ง เราไปทานอาหารกลางวันในร้านใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย พี่จิ๊บพูดขึ้นในช่วงหนึ่งว่า อยากจะจัดทีมเข้าไปบริหารสโมสรสุโขทัยธรรมาธิราช ที่จะมีบทบาทมากในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรใน มสธ. และได้ขอให้ผมเป็นหนึ่งในทีมผู้สมัครที่มีจำนวน 15 คนนั้น พี่จิ๊บหว่านล้อมผมอยู่นานอ้างว่า ผมแม้จะเป็นอาจารย์ใหม่แต่ก็มีชื่อเสียงระดับชาติ (ผมรู้สึกหน้าอกพองขึ้นมาด้วยลูกยอลูกนั้น) ทั้งยังมีคอนเน็คชั่นรู้จักผู้คนมาก งานนี้ไม่ใช่ทำเอาสนุกหรือเข้าไปจัดงานเฮฮาสังสรรค์ แต่เป็นการเข้าไปทำงานเพื่อส่วนรวม (ผมยิ่งรู้สึกหน้าอกพองขึ้นมาอีก) ด้วยคนรุ่นใหม่นี่แหละที่จะเป็นอนาคตของ มสธ. แต่ที่สำคัญที่สุดจะได้เข้าไปอีกแรงหนึ่งของการ “ปฏิรูปมหาวิทยาลัย” หัวหน้าทีมของเราเป็นอาจารย์ผู้ชายจากสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ อายุราว 40 ปี เป็นคนที่เรียกว่าไฟแรงและมีวาทศิลป์ดี(คือพูดเก่งและได้สาระน่าฟัง) ลูกทีมนอกจากผมที่มาจากสาขาวิชารัฐศาสตร์แล้ว ก็ยังมีอาจารย์จากสาขาวิชาอื่นอีก 4 คน รวมกับบุคลากรสาย ข. และสาย ค. อีก 9 คน จากหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อกระจายเครือข่ายเข้าไปในบุคลากรทุก ๆ กลุ่ม ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าทีมของเราได้รับชัยชนะ พวกเราวิเคราะห์ว่าคงเป็นเพราะนโยบายที่เราใช้หาเสียง ที่ว่า “ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก เพราะพวกเราคือ มสธ.” อันแสดงถึงบุคลากรคงจะได้รับรู้ถึงปัญหาของ มสธ.ว่ามีการแบ่งแยกและแตกแยกกันอยู่จริง ๆ แต่เมื่อพวกเราได้เข้าไปบริหารสโมสรก็เจอกับการต่อต้านจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะไม่ได้รับการอนุมัติโครงการต่าง ๆ ที่จะต้องใช้งบประมาณจากมหาวิทยาลัย เนื่องจาก มสธ.มีการบริหารแบบรวมศูนย์ จึงทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีอิสระเท่าที่ควรในการบริหารงานต่าง ๆ พร้อมกับมีการปล่อยข่าวว่าพวกเราทุจริตในการปรับปรุงตกแต่งบริเวณอาคารสโมสร ทำให้ในการเลือกตั้งในครั้งต่อมาพวกเราจึงพ่ายแพ้ แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ เพราะในอีกสมัยต่อมาในปี 2538 เราก็ชนะการเลือกตั้ง เพราะเราได้ไปขุดคุ้ยถึงเรื่องการทุจริตของฝ่ายบริหาร ซึ่งได้ส่งทีมมาบริหารสโมสรอยู่ก่อนหน้านั้น เรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์แบบ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” หลังการเลือกตั้งผมได้ตำแหน่งเป็นอุปนายกสโมสร มสธ. ครั้งนี้เราพยายามหารายได้จากหลาย ๆ แหล่งเข้ามาพัฒนาสโมสร ทั้งจากเทศบาลนครปากเกร็ดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี โดยทำโครงการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์การทั้งสอง และการขยายพื้นที่ขายสินค้า เราก็มีรายได้พอเพียงกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งปี ตั้งแต่งานกีฬาสี งานประเพณีต่าง ๆ งานต้อนรับบุคลากรใหม่ งานสวัสดิการ และการออกไปร่วมทำกิจกรรมกับหน่วยงานภายนอก รวมถึงที่พยายาม “ญาติดี” กับคณะผู้บริหาร แต่กระนั้นงานของเราก็ไม่ค่อยราบรื่นนัก จนกระทั่งเรามานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรเราจึงจะมีบทบาทในฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมากขึ้น ในปีนั้นเป็นปีที่ครบวาระ 4 ปีของอธิการบดี ที่จะต้องมีการคัดสรรหาอธิการบดีคนใหม่ตามกฎหมายของมหาวิทยาลัย อธิการบดีคนที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่เสนอตัวขอเป็นอธิการบดีอีกรอบ โดยมีรองอธิการบดีคนหนึ่งสมัครลงชิงตำแหน่งด้วย รองอธิการคนนี้ได้มาตีสนิทกับทีมพวกเราที่บริหารสโมสรอยู่ ด้วยเห็นว่าน่าจะเป็นตัวช่วยสร้างความนิยมให้กับตัวแกได้ นายกสโมสรของเราตกลงเข้าช่วย แต่พวกเราเสียงแตก มีบางคนไม่เห็นด้วยรวมทั้งพี่จิ๊บ โดยพี่จิ๊บบอกว่ารองอธิการคนนี้ก็ “มีแผล” พอ ๆ กัน ที่สำคัญก็เป็นต้นเหตุของความแตกแยกใน มสธ. อีกคนหนึ่งด้วย สุดท้ายในการคัดสรรก็ได้อธิการบดีคนเก่า ซึ่งในคราวนี้แกก็ยิ่งใช้อำนาจอย่างเผด็จการมากขึ้น โดยที่ใครไม่ยอมสวามิภักดิ์ก็จะถูกกลั่นแกล้งหรือกีดกันให้พ้นจากตำแหน่ง หรือขัดขวางในโครงการและกิจกรรมที่คิดจะทำไม่ให้ทำได้สำเร็จ แต่ทีมของเราก็ยังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทีมบริหารสโมสรในอีก 2 สมัยต่อมา จนถึง พ.ศ. 2542 ซึ่งก็พอดีกับที่จะต้องมีการคัดสรรอธิการบดีอีกครั้ง ในช่วง 4 ปีที่เราบริหารสโมสรในครั้งหลังนี้ เราได้รับข้อมูลจากบุคลากรในหลาย ๆ หน่วยงาน เกี่ยวกับการที่พวกเขาถูกกลั่นแกล้งในการประเมินความดีความชอบเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายและการอนุมัติกิจกรรมต่าง ๆ พี่จิ๊บมีความคิดว่าเราคงจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่ออกไป เพื่อให้ทุกคนทราบถึงความไม่ชอบมาพากลและความเลวร้ายต่าง ๆ เพียงแต่มีปัญหาว่าเจ้าของเรื่องหรือตัวคนที่ถูกกลั่นแกล้งเหล่านั้นไม่ค่อยจะกล้าแสดงตัว เราจึงไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปกระจายข่าวได้อย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นโชคดีที่เราได้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการทุจริตในการซ่อมแซมและปรับปรุงอาคาร เช่น การเปลี่ยนสุขภัณฑ์ชุดใหม่ทั้งตึก ทั้งที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่มาได้เพียงปีกว่า ๆ และการอวยประโยชน์ให้บริษัทรับเหมาที่มาทาสีอาคารที่ทาสีเกินเลยไปกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญา แต่ทางมหาวิทยาลัยก็แก้สัญญาให้ผู้รับเหมาได้รับเงินเพิ่ม ทั้งยังทราบอีกว่าผู้รับเหมารายนี้มีความสัมพันธ์เป็นญาติกับผู้บริหารอีกด้วย พี่จิ๊บจัดแบ่งทีมทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง ผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผลิตข่าวสารร่วมกับอาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ เราปิ๊งไอเดียว่าต้องทำในรูปแบบที่เอกสารที่อ่านสนุก มีรสชาติเจ็บแสบ เสียดสีและให้อารมณ์ขบขัน แต่มีสาระและสื่อถึงความเหลวแหลกของการบริหารงานของผู้บริหารชุดนี้ โดยทำออกมาคล้าย ๆ ใบปลิว มีรูปถ่าย ภาพวาด และการ์ตูนประกอบ ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างครึกโครม มีการสอบถามกันว่าใครเป็นคนทำ และพยายามสอบถามว่าจะมีข้อมูลเหล่านี้ออกมาอีกเมื่อไหร่ จนเราต้องพยายามผลิตออกมาทุก ๆ สัปดาห์ จนเกิดกระแส “ลุกฮือ” ขึ้นทั้งในทางลึกและทางกว้าง ไฟเมื่อจุดขึ้นแล้วก็ต้องคอยเติมเชื้อ เพื่อให้โหมกระพือและลุกลามไปเรื่อย ๆ