เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี ทรงเป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้านตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ บังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ ทหารแม่นปืนหน้าปืนหลัง ว่าการกรมทหารญวนอาสารบ แขกอาสา ซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญและมีกำลังคนมาก ทรงแปลและเรียบเรียงตำราปืนใหญ่ รวมทั้งอำนวยการฝึกหัดทหารปืนใหญ่ ทำให้กองทหารมีระเบียบวินัยแบบตะวันตก
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็น สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก วางรากฐานการจัดกิจการทหารเรือให้เข้าสู่ระบบสากลตามแบบอย่างอารยประเทศ ด้วยความที่ทรงใฝ่พระทัยในวิทยาการตะวันตก โปรดให้นำธรรมเนียมปฏิบัติแบบตะวันตกมาใช้หลายประการ เช่น โปรดให้ติดตั้งเสาธงเพื่อชักธง พระจุฑามณี ออกแบบตราประจำพระองค์เป็นรูปพระปิ่น สมอเรือ และปืนใหญ่ แสดงถึงการที่ทรงบังคับบัญชาทั้งทหารเรือและทหารปืนใหญ่
ในด้านการปกครอง แม้จะไม่ทรงมีหน้าที่โดยตรง แต่พระองค์ก็โปรดการเสด็จประพาสหัวเมือง โดยเฉพาะภาคอีสาน โปรดให้สร้างพระตำหนักที่บ้านสีทา จังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ยังทรงโปรดทางศิลปะ ทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์ ทรงเป็นนักเล่นสักวาที่มีฝีพระโอษฐ์คมคาย ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมและเพลงยาวต่างๆ ขึ้นหลายสำนวน ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี 4 ชนิด เรียกว่า “ปี่พาทย์เครื่องใหญ่” สืบมาจนทุกวันนี้
เบื้องปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระที่นั่งตึกแบบตะวันตก เดิมชื่อพระที่นั่งวงจันทร์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หลวงชาติเสนี (ทัด) สร้างเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับ 2 ชั้น หลังคาพระที่นั่งทรงจั่วชั้นเดียวไม่มีมุขลด หน้าจั่วทั้งสองด้านปั้นปูนประดับเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ คือ รูปปิ่นประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า อยู่ภายในช่อมาลาประกอบลายพันธุ์พฤกษา อันมีที่มาจากพระนามเดิมคือ “เจ้าฟ้าจุฑามณี”
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้ชมพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ภายในจัดแสดงแบ่งห้องตามการใช้สอยเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้องเสวย ห้องรับแขก ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์พร้อมห้องสรง ห้องสมุดและห้องทรงพระอักษร เป็นต้น (ที่มา: กรมศิลปากร)
ร่วมน้อมรำลึกพระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว




