เชิงสารคดี: เวลานี้ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เราทุกคนต้องร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปมากกว่านี้ อีกด้านหนึ่ง ที่เราๆ ท่านๆ เห็นภาพข่าวรถพระราชทานตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานรถฯ จำนวน 13 คัน ไปจอดยังแหล่งสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน ชุมชนแออัด กลุ่มอาชีพเสี่ยง กลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ที่มา พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย (Biosafety Mobile Unit) กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปรับรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพร้อมระบบสารสนเทศ (ต้นแบบ) เพื่อใช้ในการเก็บสิ่งส่งตรวจเคลื่อนที่และทดสอบประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 จำนวน 1 คัน หมายเลขทะเบียน 2 ฒอ 648 ซึ่งเกิดจากการน้อมเกล้าฯ ถวายรถคันนี้ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิปร วิประกษิต คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด พร้อมด้วย บริษัท THINK NET จำกัด และบริษัท PLUSE SCIENCE จำกัด ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพร้อมระบบสารสนเทศ (ต้นแบบ) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้ประสานกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการนำรถต้นแบบไปทดลองใช้ แผนการใช้รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยที่ได้รับพระราชทาน ในการเผชิญเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 1. เน้นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ผับ บาร์ ที่เคยเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกแรก 2. เข้าถึงประชาชนในชุมชน เช่น ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มเปราะบาง คนเร่ร่อน ขณะเดียวกันความสำคัญและความจำเป็นของรถตรวจโรคคันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งในการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case finding) ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ชุมชนแออัด สถานที่เสี่ยง เช่น สถานที่ที่มีผู้คนมารวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานข้ามชาติ ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะเขตเมืองและปริมณฑล ซึ่งผลการดำเนินงาน เริ่มใช้งานวันแรกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ณ สถานควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้มีการขยายให้บริการที่หลากหลายกลุ่มมากขึ้นทั่วประเทศ มีการตรวจโรคโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 315,433 ราย ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมตัวเลขตรวจหาเชื้อโควิด-19 ระลอกสอง ณ ปัจจุบัน ด้านประโยชน์รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย 1. เพิ่มความรวดเร็วในการค้นหาผู้ป่วย ณ จุดที่มีการระบาด ได้อย่างรวดเร็ว เปลี่ยนวิธีการทำงาน จากตั้งรับในโรงพยาบาล เป็นการทำงานเชิงรุกเข้าถึงจุดเกิดเหตุที่บ้านและชุมชน การทำให้ค้นหาผู้สงสัย ผู้ติดเชื้อในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว 2. เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างที่อยู่ประจำรถมีความปลอดภัย 3. ลดค่าใช้จ่ายของประเทศ ด้วยการลดการใช้อุปกรณ์ ป้องกันส่วนบุคคล (ขุด PPE, หน้ากากอนามัยชนิด N95) ในภาวะขาดแคลน การได้รับพระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรมัย ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อประชาชนและประเทศชาติ ในการต่อสู้ภัยโควิด-19 ทำให้ค้นหาผู้สงสัยผู้ติดเชื้อในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงประชาชนได้ง่ายทุกชุมชน เจ้าหน้าที่ผู้เก็บตัวอย่างปลอดภัย ลดการใช้ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) อีกด้วย อันจะนำมาซึ่งสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทย ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งที่พระราชทานเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ความว่า “...อย่างที่บอกว่าประชาชนมีความสุข ประเทศมีความมั่นคง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาต้องมี อุปสรรคต้องมีเสมอ แต่ถ้าเรามีความมั่นคงมีความอยากให้ประชาชนมีความสุข มีทัศนคติที่ดี ประชาชนก็มีความสุข พวกเราก็มีความสุข เพราะเราก็คือประชาชน...”