กรมศิลป์-ผู้เชี่ยวชาญเสนอ 3 แนวทางให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก พิจารณาลดผลกระทบสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านมรดกโลกอยุธยา กรณีการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร – เชียงใหม่ ระยะที่ 1 ซึ่งมีแนวเส้นทางการดำเนินงานผ่านพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีสถานีพระนครศรีอยุธยาซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งมรดกโลก ส่งผลให้หลายฝ่ายมีความห่วงกังวลว่าการดำเนินการตามโครงการจะส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกนั้น ล่าสุด นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนารูปแบบสถานีอยุธยาให้มีความเหมาะสม และเตรียมการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดก (HIA) เสนอต่อศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโก ส่วนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟให้พิจารณาตามความจำเป็นในด้านการคมนาคมขนส่ง โดยไม่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีความเห็นว่าสมควรขยับพื้นที่การก่อสร้างออกไปจากบริเวณเดิม รวมทั้งมีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง ดำเนินการศึกษาการก่อสร้างสถานีพระนครศรีอยุธยาในพื้นที่ใหม่ เพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยให้ประสานงานกับกรมศิลปากรในการขอคำปรึกษาและแนะนำ อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สผ. และยูเนสโก กรุงเทพ กำลังเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดเงื่อนไขและแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแล้ว “ในเบื้องต้นมีข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณา 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ย้ายสถานีไปที่บ้านม้า ซึ่งอยู่เลยจากสถานีอยุธยาออกไป ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเป็นสถานีขนาดเล็ก แต่สามารถสร้างให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมทางการคมนาคมได้ในอนาคต เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองได้ 2. ใช้เส้นทางแนวเดิม แต่ขุดเจาะเป็นอุโมงค์ลอดผ่านสถานีอยุธยาในปัจจุบัน ลักษณะเช่นเดียวกับการสร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่เมืองลพบุรีเพื่อลดผลกระทบทางภูมิทัศน์ แต่วิธีนี้ต้องใช้งบประมาณสูงมากในการดำเนินการ และ 3. เบนแนวเส้นทางออกไปขนานกับทางสายเอเซีย ให้พ้นจากพื้นที่รอบเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งวิธีนี้จะปลอดภัยกับแหล่งมรดกโลกมากที่สุด เพราะแนวรางรถไฟอยู่ห่างออกไปไกล แต่ทางการรถไฟต้องเวนคืนที่ดินจากประชาชนในการปรับเส้นทางดังกล่าว และขอใช้พื้นที่ในแนวเขตทางหลวง ทั้งนี้ จะมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก พิจารณาเร็วๆ นี้” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว