"ศิษย์คิดลึก" ปีนี้น้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน ทำให้คนที่เคยจมมาแล้วเมื่อปี 54 อดตุ้มๆ ต่อมๆ ไม่ได้ ว่าปีนี้น้ำจะท่วมซ้ำกันอีกไหมเชื่อว่าหลายท่านยังจำได้กันได้กับเพจที่มาพร้อมกับน้องน้ำและได้ใจในช่วงนั้น "รู้สู้ Flood"ที่โดนใจตั้งแต่ชื่อ การนำเสนอ ที่กระชับ ชัดเจนช่วยให้ทั้งผู้ประสบภัย ทั้งผู้ที่กำลังตุ้มๆต่อมๆ รอภัยมาประสบ ได้เตรียมตัวเตรียมพร้อมตั้งรับ แถมยังเรียกรอยยิ้มได้ในช่วงที่กำลังรอคอยน้องน้ำไม่เพียงเมืองไทยยังดังไกลไปถึงเมืองนอกถึงขั้น "วอลล์สตรีทเจอร์ นัล" ยกนิ้วให้ ว่าให้ข้อมูลเจ๋ง ชัดเจน น่าเชื่อถือกว่ารัฐบาลด้วยซ้ำไป มายุคนี้ที่โซเชียลมีเดียแทรกซึมทะลุทะลวงเข้าไปแทบจะทุกหย่อมหญ้า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดสกลนคร อีกครั้งที่ทำให้เราได้เห็นถึงน้ำจิตน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของคนไทยที่พร้อมช่วยเหลือกันทุกครั้งในทุกภัย และหนึ่งในเพจที่โดดเด่น ต้องยกให้ เฟซบุ๊ก"สกลนครซิตี้" ที่กลายเป็นฮีโร่ออนไลน์ เข้าถึงใจทั้งคนน้ำท่วม ทั้งให้คนภายนอกได้เข้าถึงภาพ-ข้อมูลความเดือดร้อนจริงๆ ของคนในพื้นที่ ทั้งยังสื่อทุกข์ชาวบ้านถ่ายทอดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบเพื่อเร่งแก้ไข กระแสโลกออนไลน์ยังทำให้ชวนกังขากับกรณีเรือของภาครัฐในพื้นที่น้ำท่วมที่จอดเฉยๆ ทิ้งไว้ไม่เอามาใช้ ซึ่งโพสต์ตอบมาเพียงว่า เอาไว้ใช้เพื่อการฉุกเฉินเท่านั้น แค่นี้ยังทำให้ต้องมานั่งตีความกันอีก... ซ้ำด้วยภาพรถกู้ภัยใหม่เอี่ยม สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ที่เอาออกมาวิ่งหลังน้ำก้อนใหญ่ไปหมดแล้วเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุอีกรอบเป็นรถที่จัดงบฯซื้อไว้สำหรับต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่ให้ท่านได้เดินทางสะดวกโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อผู้ใหญ่ท่านกลับก็เอาไปเก็บไว้ที่เดิม ทุกครั้งที่น้ำท่วมรวมทั้งครั้งนี้ มีการตั้งข้อสงสัยถึงการเตือนภัย ระบบเตรียมพร้อมป้องกัน ศูนย์ภัยพิบัติของบ้านเรา รวมทั้งการพูดความจริงในสถานการณ์คับขันของภาครัฐที่แท้ จริง-เท็จมากน้อยแค่ไหน การช่วยเหลือที่ควรต้องฉับไว ระเบียบขั้นตอนราชการที่มากมาย ละเว้นได้หรือไม่ในยามฉุกเฉินวิกฤติเนิ่นนานมาแล้วที่บ้านเรา ต้องผจญกับวังวนหน้าแล้งรับภัยแล้ง หน้าฝนรับน้ำท่วม หน้าหนาวรับภัยหนาว วนกันไปท่ามกลางหยาดน้ำตาของพ่อแม่พี่น้องที่ต้องหลั่งรินสิ้นเนื้อประดาตัวไปในแต่ละภัยไม่จบไม่สิ้น ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ การเตรียมตัวก่อนหน้าการตั้งรับ การฟื้นฟู ปัญหาผังเมือง ตัดไม้ทำลายป่า เป็นหัวข้อในทุกการสนทนาเรื่องภัยพิบัติทั้งหลาย ซึ่งคงต้องขอใช้คำยอดฮิตยุค คสช.ว่า ถึงคราวต้องปฏิรูปกันครั้งใหญ่ การรับมือภัยพิบัติในบ้านเรา คงไม่ต้องหวังไปถึงขั้นญี่ปุ่น ที่ก้าวไปไกล แต่ละจังหวัด เขาจะมีคู่มือจัดการภาวะวิกฤติ ที่ใครย้ายไปเมืองไหนไปขึ้นทะเบียนกับอำเภอที่นั่น จะได้รับคู่มือการใช้ชีวิต โดยเฉพาะให้รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละพื้นที่ มีทั้งเอกสาร ซีดี เว็บไซต์ บอกเสร็จสรรพทั้งจะทำตัวอย่างไรเมื่อภัยมา แผนที่ศูนย์อพยพ เส้นทางหนีภัยมีหมด ทั้งบ้านเขายังเตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉินตลอด มีถุงฉุกเฉินไว้สำหรับใช้ชีวิตได้เองตามลำพัง 3 วันระหว่างรอรัฐมาช่วย อ่านแล้วไม่หวังถึงขั้นนั้น เพราะบ้านเรากับบ้านเขายังไกลกันในทุกเรื่องอย่างไรก็ตาม บ้านเราทราบมาว่ามีหลายจังหวัดที่ใช้บทเรียนจากภัยพิบัติเริ่มต้นเตรียมแผนตั้งรับมือกันอย่างเป็นรูปเป็นร่าง เช่นที่หาดใหญ่ เชียงราย สุราษฎร์ธานี รวมทั้ง กทม. ที่มีการทำแผนที่แสดงความรุนแรงจุดเสี่ยงอุทกภัยซึ่งล่าสุดทราบว่าทาง "วสท." มีแนวคิดจะให้ติดจีพีเอสตามบ้านเรือนเพื่อแจ้งเตือนเมื่อมีภัยจึงอยากจะให้บทเรียนความสูญเสียในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมพร้อมเพื่อประชาชนมากกว่านี้ เพราะวิกฤติโลกร้อนเข้าใกล้ตัวเรามาทุกทีและยิ่งเพิ่มดีกรีความรุนแรงของแต่ละภัยล่าสุดสะท้อนได้จากข่าวดีของครอบครัวหนึ่งที่ภาวะโลกร้อน ทำให้ได้พบกับผู้อันเป็นที่รักที่หายสาบสูญไปนานกว่า 75 ปีศพพ่อแม่ที่จมอยู่ใต้น้ำแข็งมานาน หลังจากลูกๆ เพียรพยายามตามหากันมาจนทั้งชีวิตและแทบจะพลิกแผ่นดินหา ถูกค้นพบง่ายๆ ด้วยน้ำแข็งแถบขั้วโลกที่ละลายจนเห็นศพกลับกลายเป็นการค้นพบที่เป็นข่าวร้ายยิ่งสำหรับมนุษยชาติ....