ณ เวลานี้ต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยพี่เบิ้มอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ก็โดนต่อกรจากพี่เบิ้มเอเชีย “จีน” แสดงบทบาทในการเข้าไปร่วมทำการค้า และกิจกรรมต่างๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งนี้ “ไทย” ก็เช่นเดียวกัน ได้มีการร่วมลงทุนทั้งภาคการเมือง และเศรษฐกิจ มากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเติมโตมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต ล่าสุดได้มีการจัดสัมมนาในเรื่อง “Thailand 4.0 ยุทธศาสตร์เชื่อมต่อ Belt and Road” หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ระดับประวัติศาสตร์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดทั่วโลกช่วงนี้ กับการลงทุนมหาศาลของจีนด้วยมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมีจุดมุ่งหมายในการเชื่อมต่อ (Connecting) เส้นทางโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ของโลกทั้งทางบก และทางทะเล ระหว่าง 1 ภูมิภาค และ 3 ทวีป คือ อาเซียน เอเชีย แอฟริกา และยุโรป เกี่ยวข้องกับ 64 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมประชากรโลกถึง 4,500 ล้านคน และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังจะเกิดความร่วมมือด้านนโยบายการอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน และความร่วมมือด้านการเงิน โดยมีตัวแทนจากภาคธุรกิจต่างๆ มาแสดงความคิดเห็นบทบาทการค้าไทย-จีน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย - จีน กล่าวในการเสวนาฯว่า ไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียนทั้งด้านการค้า การลงทุน ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 นับเป็นโอกาสในการพัฒนาทั้งด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ การท่องเที่ยว การค้าบริการ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สอดคล้องกับโครงการเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน หรือ One Belt One Road ดังนั้นไทยจะต้องใช้โอกาสในครั้งนี้พัฒนายุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงแนวทางการพัฒนาทั้งด้านบุคลากร สินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และจะต้องดำเนินนโยบายการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้นักลงทุนจีนจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( EEC ) “นโยบายดังกล่าวของจีนนับเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ไทยได้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลไทยได้เร่งผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งนับว่าเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวของจีนซึ่งจะเอื้อให้จีนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแบ่งปัน และถ่ายทอดความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเรา”นายจิตติ กล่าว นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า แนวนโยบาย One Belt One Road ของจีน เป็นนโยบายระดับโลก ทั้งด้านรัฐศาสตร์ ในการขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนไปสู่ประชาคมโลก ผ่านการเชื่อมโยง เพื่อให้ได้การยอมรับในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจ โดย 6 เส้นทางตามโครงการของจีนเจาะลึกลงไปในพื้นที่ที่ยังไม่โดดเด่น เช่น เส้นทางไปยังมองโกเลีย, ตุรกี, อินโดจีน, เมียนมาร์, บังกลาเทศ, ปากีสถาน ซึ่งเส้นทางเหล่านี้หากมีการพัฒนาจะช่วยเสริมบทบาทของจีนที่ก้าวขึ่นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้นโยบาย One Belt One Road ของจีนจะช่วยให้เกิดการค้าในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของการทำธุรกิจ E Commerce ซึ่งจะเพิ่มบทบาทการค้าไทย จีน ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น “ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับโลก ส่วนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทยเป็นแค่เพียงยุทธศาสตร์ภายในประเทศเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไทยจะทำได้ก็คือค่อยๆเพิ่มความร่วมมือกับจีน พัฒนาร่วมกัน ติดต่อไปมาหาสู่กัน และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ยังไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงการเชื่อมต่อกับโครงการใหญ่ขนาดนั้น โดยสิ่งที่ไทยจะได้รับจากโครงการ One Belt One Road ของจีนนั้นก็คือโอกาสในการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น”นายเจน กล่าว รศ. พ.ต.ต. ดร.ดนุวศิน เจริญ รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวมาจากการที่รัฐบาลต้องการปลดล็อกเศรษฐกิจแบบเดิมที่มุ่งไปยังการรับจ้างผลิตเป็นหลัก ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเศรษฐกิจนั้นไม่ใข้แค่เพียงการพัฒนาแต่การพัฒนาในประเทศเพียงเท่านั้น แต่เราต้องเชื่อมโยงกับโลกด้วย และโครงการ One Belt One Road ของจีนซึ่งเป็นการเชื่อมโยงประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกันได้เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ของประเทศไทย เช่นเดียวกับ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการ One Belt One Road ถือเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจและความร่วมมือที่ชัดเจน แสดงถึงความพร้อมของบุคลากรจีน แตกต่างกับไทยที่ยังไม่มีความเข้าใจเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาจีนมีบทบาทสูงในด้านการค้า การลงทุนของภูมิภาค ซึ่งข้อเสนอในโครงการ One Belt One Road จะนำมาซึ่งการลงทุนระดับสูง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงเกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ชัด ขณะที่นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน กล่าวว่า จากการกำหนดยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ของจีน ถือเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับโลกที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของนานาชาติ ไม่ใช่เพียงแค่แนวเส้นทางคมนาคมของจีนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงประเทศต่างๆทั่วโลกด้วย ในขณะที่ไทยเองก็ได้มีการประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และกำหนดนโยบาย Thailand 4.0 ขึ้นมาเช่นกัน ดังนั้นนโยบายและยุทธศาสตร์ของทั้งไทยและจีน ควรที่จะมีการเชื่อมต่อกัน เพื่อจะเกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุด คงต้องจับตามมองการเปลี่ยนแปลงของโลก และของไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตกับอภิมหานโยบาย “One Belt One Road” ของจีน จะหนุนนำพานโยบาย “Thailand 4.0” ของไทย ไปได้มากน้อยแค่ไหน ธุรกิจของไทยจะได้รับอนิสงค์อย่างไร งานนี้ต้องลุ้นกันยาวๆ