"จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตตัวเองคงเป็นวันที่ 13 ตุลา วันที่พระองค์ท่านเสด็จฯ สวรรคต จำได้เลยว่านั่งเปิดดูพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านวนไปวนมาอยู่แบบนั้นแหละ คือเราเห็นมาตั้งแต่เด็กนะว่าพระองค์ท่านทำอะไรบ้าง แต่เรายังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พระองค์ท่านทำสอนอะไรเราบ้าง พอดูไปเรื่อยๆ เลยเกิดคำถามขึ้นมาเลยว่า ไอ้ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้น่ะมันดีที่สุดแล้วหรือยัง มันยังทำได้มากกว่านี้อีกไหม ตั้งแต่ตอนนั้นเลยตั้งใจว่าต่อไปนี้เราจะเอาสิ่งที่ดีที่สุดของเราออกไปให้คนอื่นให้มากที่สุด นี่แหละวิธีบอกรักพ่อของพลอย"
เมื่อคุณคลิกเข้าไปในเพจ "หมอพลอยกายภาพบำบัด หนองแค สระบุรี" นอกจากคุณจะได้รับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับท่ากายบริหารเพื่อป้องกัน และแก้ไขอาการเจ็บปวดต่างๆตามร่างกาย ซึ่งสามารถทำตามได้เองที่บ้านแล้ว ก็ต้องสะดุดตากับหน้าหวานๆ และเสียงใสๆ ของ กภ.สิริอาภรณ์ ธนางทิพย์กุล ผ่านคลิปสาธิตดังกล่าว กภ.สิริอาภรณ์ หรือ "พลอย" นักกายภาพบำบัดสาวเจ้าของเพจนี้ มีดีกรีปริญญาตรีคณะสหเวชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือมสธ. เมื่อเรียนจบปริญญาตรี เธอเลือกไปทำงานในต่างจังหวัดแทนที่จะอยู่ในเมืองหลวง ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยเหลือคน โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอในจ.สระบุรี ระหว่างปี 2552-2558 ก่อนจะมาเปิดคลินิคกายภาพบำบัด หนองแค จ.สระบุรี จนถึงปัจจุบัน "ID-TALK" อาสาพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเธอ สัมผัสแง่มุมความคิด ชีวิต และงาน รวมทั้งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ของเธอ... คุณพลอยเคยเป็นวัยรุ่นแบบไหน และมีความสนใจด้านใด ก่อนมาเป็นนักกายภาพบำบัด ตอนเรียนจะเป็นพวกเด็กเรียบร้อย ออกแนวเนิร์ดๆ อารมณ์ใส่แว่นหนา กระโปรงยาว เสื้อตัวโคร่งๆ ประมาณนี้เลยค่ะ เที่ยวเล่นเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่เราจะค่อนข้างทำตามกฎระเบียบ ไม่ค่อยทำอะไรแหกกฎนะ ที่สนใจเป็นพิเศษคงเป็นเรื่องจิตวิทยา ชอบวิทยาศาสตร์ที่อธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรม การแสดงออกของคน การทำงานของสมองที่ส่งผลถึงความรู้สึกนึกคิด เรื่องพวกนี้ชอบมาก รู้สึกเป็นเรื่องที่น่าสนใจ พอเราเข้าใจความเป็นมาเรารู้สึกว่ามันทำให้เราเข้าใจการกระทำของคนรอบตัวหรือแม้กระทั่งตัวเราได้มากขึ้น สนุกดี อะไรเป็นเหตุผลสำคัญและแรงบันดาลใจให้วางแผนชีวิตเข้าสู่อาชีพนี้ มันหลายอย่างเลยนะคะ อย่างตอนเด็กนี่รู้สึกว่าอาชีพที่รักษาคนได้น่าตื่นเต้นมาก เวลาดูรายการที่เขาไปถ่ายคนไข้ที่อยู่ในชนบท ในที่กันดาร แล้วเราเห็นทีมหมอเขาเดินทางไปรักษาให้ เห็นภาพของคนที่เขารอด้วยความหวังรู้สึกว่ามันมีความสุขน่ะ เลยคิดว่าถ้าโตไปอยากไปทำแบบนั้นบ้างคงเจ๋งน่าดู เลยตั้งเป้าเลยว่าโตไปจะเลือกคณะที่รักษาคน อีกเงื่อนไขที่ตั้งไว้คือ งานที่ทำต้องมีเวลาให้ครอบครัวได้ด้วย ปรากฏว่าก็มาสอบติดที่คณะสหเวชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัดค่ะ ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยรู้ว่ากายภาพบำบัดคืออะไร เพราะเป็นสาขาที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทยค่ะ มีบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจหรือไม่ คนแรกในใจเลยคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดชค่ะ จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตตัวเองคงเป็นวันที่ 13 ตุลา วันที่พระองค์ท่านเสด็จฯ สวรรคต จำได้เลยว่านั่งเปิดดูพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านวนไปวนมาอยู่แบบนั้นแหละ คือเราเห็นมาตั้งแต่เด็กนะว่าพระองค์ท่านทำอะไรบ้าง แต่เรายังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พระองค์ท่านทำสอนอะไรเราบ้าง พอดูไปเรื่อยๆ เลยเกิดคำถามขึ้นมาเลยว่า ไอ้ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้น่ะมันดีที่สุดแล้วหรือยัง มันยังทำได้มากกว่านี้อีกไหม ตั้งแต่ตอนนั้นเลยตั้งใจว่าต่อไปนี้เราจะเอาสิ่งที่ดีที่สุดของเราออกไปให้คนอื่นให้มากที่สุด นี่แหละวิธีบอกรักพ่อของพลอย แรงบันดาลใจอีกอย่างคือครอบครัว เพราะความสำเร็จที่ไร้คนแชร์สำหรับตัวเองมันเจ็บปวดนะ คุณแม่กับน้องสาวเลยเป็นเหมือนขุมพลังที่ดีที่สุดเลยค่ะ ทุกอย่างที่เราทำได้ก็เพราะพลังใจจากเขาสองคนนี่แหละ เมื่อตัดสินใจเรียนทางด้านนี้ ค้นพบเสน่ห์ของกายภาพบำบัดอยู่ตรงไหน ด้วยความที่วิชาชีพกายภาพบำบัดเป็นการรักษาที่ไม่ได้ใส่อะไรเข้าไปในตัวคนไข้เลยค่ะ เราใช้เทคนิคต่างๆ การดัดดึงข้อต่อ เครื่องมือทางกายภาพบำบัด การออกแบบท่าบริหารที่เหมาะกับอาการเพื่อกระตุ้นและทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการฟื้นฟูตัวเองกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากที่สุด จึงเป็นเหมือนวิถีธรรมชาติที่ช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเอง ส่วนตัวมองว่านี่แหละคือเสน่ห์ของวิชาชีพกายภาพบำบัด เพราะต่อให้เราลงไปในที่ที่ไม่มีอะไรให้เลย เราก็จะยังเหลือสองมือที่ใช้รักษาคนไข้ได้อยู่ดี ปรับตัวอย่างไรเมื่อเรียนจบแล้วต้องไปทำงานในต่างจังหวัด เยอะมากค่ะเพราะไม่เคยไปอยู่ต่างจังหวัด ยิ่งโรงพยาบาลชุมชน ไปตอนแรกตกใจมากทำไมโรงพยาบาลเล็กขนาดนี้ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนเพราะเรียนมาแต่รักษา เรื่องบริหารนี่ไม่มีเลยแล้วจะสร้างแผนกอย่างไร สิ่งสำคัญที่พบคือเราต้องทำความเข้าใจวิถีชีวิตคนที่นั่นก่อน ไปแรกๆ นี่ตั้งใจมาก สอนคนไข้ตามสูตรที่เคยเรียนมาเป๊ะๆ ปรากฎคนไข้ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ พอทำงานไปนานๆ เลยรู้ว่า เราต้องเข้าใจชีวิตเขาก่อนถึงจะสอนเขาได้ ก็ค่อยๆ เริ่มปรับทั้งภาษาที่ใช้พูดกับคนไข้ พยายามคิดว่าต้องพูดอย่างไรเขาถึงจะเข้าใจนะ ต้องทำแบบไหนถึงจะง่ายกับชีวิตเขาดี ฟังเขาเยอะๆ แล้วออกแบบการรักษาไปพร้อมๆ กับคนไข้ว่า โอเค ถ้าปกติทำงานแบบนี้ อย่างนั้นออกกำลังท่านี้ดีไหม ลองปรับท่าทางหรือใช้ตัวนี้ช่วยในงานได้ไหม ค่อยๆ เรียนรู้ไปกับเขา คนไข้ก็จะรู้สึกว่าตัวเขาก็มีส่วนช่วยในการรักษาเหมือนกันนะ ประสบการณ์ที่ประทับใจในการทำงานในโรงพยาบาล ความมีน้ำใจของคนไข้ในชนบทค่ะ คือคนไข้ที่นั่นน่ารักมากๆ ไม่ได้รวยเงินนะแต่รวยน้ำใจ จำได้ว่ามีครั้งหนึ่งไม่สบายมากแต่ไม่ได้ลาเพราะนัดคนไข้เอาไว้ แล้วในแผนกมีเรารักษาคนเดียว ปรากฏคนไข้ที่รอคิวยาวๆ มาช่วยกันหมดเลย แล้วเขาก็แบ่งหน้าที่กันนะคะ คนนี้ไปเอายามา คนนี้กลับบ้านไปทำข้าวต้มให้ คนนี้คอยยืนบอกคนไข้คนอื่นจัดคิวให้ คือทุกคนช่วยกันดูแลเรา บางคนขี่รถมาไกลแล้วไม่ได้รักษา เราก็เกรงใจบอกรอก่อนนะเดี๋ยวมีแรงจะรักษาให้ แต่คนไข้บอกว่าไม่เป็นไรพักเลยไม่ต้องรักษาแล้ว แถมยังอยู่รอดูเราจนอาการดีขึ้นแล้วค่อยกลับกันไป คือวันนั้นรู้สึกเลยว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ทำงานแต่นี่คือบ้านอีกหลังของเรา เมื่อตัดสินใจเปิดคลินิคด้วยตนเอง ต้องบุกเบิกอย่างไร จนมาถึงวันนี้ คลินิกเพิ่งเปิดมาปีครึ่งค่ะ มาเปิดในพื้นที่ที่ตนเองไม่เคยอยู่เลย เปิดอยู่กับบ้านเป็นคลินิกเล็กๆ ตอนแรกก็คิดว่าจะมีคนไข้มารักษาไหมหนอ ไม่มีใครรู้จักเราเลย แถมกายภาพบำบัดในต่างจังหวัดนี่ คนไม่ค่อยรู้ด้วยว่าเป็นอะไรถึงมารักษาได้ ก็คิดว่าคงได้กินมาม่าเป็นเดือนๆ แน่ถ้าไม่มีคนไข้ แต่ปรากฏว่าคนไข้ที่นี่น่ารักมากๆ ค่ะ พอรักษาเสร็จเขาก็ช่วยกันไปบอกต่อ บางคนพากันมาทั้งบ้าน ก็เหมือนเรามีครอบครัวใหม่อีกหลายคนเลย บางคนไม่ได้ป่วยก็แวะเอาของมาฝาก เขาบอกไม่เหมือนมาคลินิกเหมือนมาบ้านญาติมากกว่า ก็ดีใจนะรู้สึกว่านี่แหละคลินิกแบบที่เราอยากให้เป็น งานเยอะ ใช้เวลาว่างไปกับกิจกรรมใด เวลาว่างส่วนใหญ่จะหมดไปกับการเล่นดนตรีค่ะ ถ้าช่วงไหนมีเวลามากหน่อยก็จะหายไปวัดเลย ชอบไปนั่งสมาธิในถ้ำ ยิ่งแถวสระบุรีมีภูเขาเยอะ จะมีวัดถ้ำที่สงบๆ หลายที่อันนี้จะชอบมากเป็นพิเศษ เหมือนเราได้ไปจัดการใจตัวเองพอกลับมามันมีพลังนะ เพราะงานที่เราทำนี่เจอแต่คนป่วย เวลาเขาป่วยนี่เขาไม่ได้เดินยิ้มมาหาเราหรอกถูกไหมคะ ทุกคนก็มาด้วยความกังวล ความทุกข์ใจส่วนหนึ่ง ดังนั้นการจะทำงานตรงนี้ให้ได้ผลดี และมีความสุข ใจเรามันต้องเคลียร์ระดับหนึ่งนะ คือต้องมีพื้นที่พอที่จะสามารถรับฟังปัญหาเขาแล้วช่วยพยุงใจคนไข้เขาให้ได้ด้วย บางทีโรคมันยังไม่ทันหายแต่ใจมันหายแล้ว ตอนเดินกลับไปนี่คนไข้ยิ้มแฉ่งเลยนะ ทั้งที่ความเจ็บยังเหลืออยู่ แต่ใจเขามันสุขแล้วไง นี่แหละพอเราเห็นคนไข้แบบนี้หลายๆ เคส เลยคิดว่านอกจากให้การรักษาแล้วอีกอย่างที่ต้องให้คนไข้คือความสบายใจ เมื่อก่อนตอนทำงานใหม่ๆ นี่เครียดมากเพราะใจมันยังเป็นเด็กน้อย มันอ่อนแอ พอเจอคนอารมณ์ลบหน่อย เจอไปทั้งวันทุกวัน อารมณ์มันก็ดิ่งลงเหวไปด้วยกันเลย ทีนี้พังกันหมด คนไข้ก็ลบคนรักษาก็ลบ เข้าขั้นป่วยกันทั้งคู่ ทำอย่างไรหละทีนี้ ตอนนั้นเลยมานั่งคิดว่าเราจะทำงานแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว มันไปต่อไม่ได้เลยหยุดเลย โชคดีมากที่คุณแม่ชอบพาเข้าวัด ไปนั่งสมาธิบ้าง เจอหลวงตาท่านสอนท่านเทศน์กระแทกหูบ่อยๆ ไอ้ความโง่ที่ตัวเองมีเลยเริ่มเห็นชัด ว่า “อ้าวที่โทษทุกอย่างรอบตัวนี่จริงๆ มันเพราะตัวตรูนี่แหละ” หลังจากนั้นเลยชอบการทำสมาธิไปเลย ไม่อยากกลับไปเป็นคนแบบเก่า สงสารคนไข้ (หัวเราะ) ตัวคุณพลอยเองเคยประสบปัญหา ต้องกายภาพบำบัดตนเองบ้างหรือไม่ เคยค่ะ คนเป็นนักกายภาพบำบัดนี่ต้องถึกระดับหนึ่งเลยนะคะ เพราะใช้แรงเยอะ อย่างเคสอัมพาตพาฝึกเดิน เคสดัดข้อต่อ ยิ่งคนไข้ตัวใหญ่ๆ นี่บางทีเสร็จเคสนึงต้องนั่งพักเลยหมดแรง ตอนทำงานที่โรงพยาบาลชุมชนมีช่วงหนึ่งรับเคสวันละ 30 กว่าเคส มีเราเป็นกายภาพบำบัดคนเดียวในอำเภอทำกันกับผู้ช่วยคนนึง พอเลิกงานนี่นอนเลย สุขภาพแย่มาก เลยคิดว่าไม่ได้แล้วต้องบริหารจัดการใหม่ถ้าทำแบบนี้ต่อไปไม่ไหวแน่ เลยกลับมานั่งคิดใหม่ว่ามันน่าจะมีวิธีอะไรที่ช่วยคนไข้ได้ดีกว่านี้นะ ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนรักษาคนไข้จะทำอย่างไร เลยเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เดิมตั้งใจว่าจะต้องสร้างแผนกให้โรงพยาบาลใหญ่ๆ หางบประมาณมาซื้อเครื่องมือให้เยอะๆ จะได้รองรับคนไข้ได้ สุดท้ายถึงเข้าใจว่างานของเราไม่ใช่การนั่งรอคนไข้อยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว แต่ต้องเข้าไปอยู่ในชุมชน จากตอนแรกทำงานตั้งเป้าว่า "ทำอย่างไรให้คนไข้หายป่วย" เลยเปลี่ยนเป็น "ทำอย่างไรให้คนที่นี่ไม่ป่วย"แทน ส่วนตัวชอบเล่นโซเชียลหรือไม่ และมีมุมมองอย่างไร ชอบเล่นค่ะ มันเป็นเหมือนห้องสมุดออนไลน์ ดีไม่ดีนี่ก็แล้วแต่ว่าเราเลือกหยิบอะไรนะ ต้องเข้าใจว่าความเป็นจริงสังคมมันก็จะเทาๆ แบบนี้แหละ ให้ขาวให้ดำไปหมดคงไม่ใช่ ก็เลือกเอาตามความชอบ อย่าไปอินกับชีวิตบนโซเชียลมาก สมัยนี้คนจริงจังกับตัวตนบนโลกออนไลน์มากไป บางทีแค่ลบเฟรนด์กันในเฟสนี่โกรธกันข้ามชาติไปเลยนะ คือปุ่มๆ เดียวมีอิทธิพลขนาดตัดความเป็นเพื่อนที่มีกันมาหลายปีไปได้เลย บางทีมันก็ต้องแยกให้ออกอย่าเอาทุกอย่างไปผูกติดกับโซเชียลมันจะยุ่งเหยิงไปหมดทีนี้ การแสดงความสัมพันธ์ก็ไม่ใช่แค่กด like กด Love มันง่ายนะคะ ก็เอาเป็นว่าเล่นเพื่อผ่อนคลาย เพื่อความสนุก ตราบใดที่โซเชียลไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทุกข์เพราะมันเมื่อไหร่ถอยออกมาก่อน หยุดก่อน กลับมาอยู่กับชีวิตจริงให้ได้ก่อน ช่วยเล่าจุดประสงค์ในการจัดทำเพจหมอพลอยกายภาพบำบัดว่าเริ่มแรกคืออะไร และกว่าจะมีวันนี้ได้ผ่านอะไรมาบ้าง "อยากให้" ค่ะ แค่นั้นสั้นๆ เลย คือเราไม่อยากนั่งรอให้เขาเป็นก่อนแล้วค่อยมาหาเราแล้วล่ะ เลยคิดว่าอย่างนั้นเราเข้าไปหาเขาเองเลยดีกว่า ไม่มีใครอยากป่วยหรอกค่ะแต่บางทีเขาไม่รู้จริงๆ ว่าถ้าเป็นแบบนี้แล้วมันต้องทำอย่างไร ถ้าเราให้ความรู้เขาให้ดูแลตัวเองเป็น ดูแลคนรอบข้างได้ ต่อไปคนป่วยก็ลดลง เพราะอย่างนั้นพลอยเลยให้ความสำคัญกับการป้องกันพอๆ กับการรักษา ความสำเร็จของการรักษาแต่ละเคสเลยไม่ใช่แค่เขาหายนะ แต่หายแล้วต้องไม่กลับมาเป็นซ้ำแบบเดิมด้วย อันนี้คือเป้าหมายของตัวเองเลย ถ้าทำได้ถือว่าการรักษาเคสนี้สำเร็จ สำหรับคำถามที่ว่ากว่าจะมีวันนี้ผ่านอะไรมาบ้าง ที่ต้องผ่านให้ได้อย่างแรกคือเอาชนะใจตัวเองก่อน เพราะกว่าจะออกมาคอนเทนต์หนึ่งนี่ต้องนั่งหาข้อมูล นั่งอ่าน ทำรูป คือต้องให้เวลากับมันมากๆ มันก็จะมีความขี้เกียจเข้ามาบ่อยๆ ก็ต้องมีวินัย ช่วงแรกที่ทำเหนื่อยมาก แต่ก็มีความสุขมากเช่นกันค่ะ เวลามีคนส่งข้อความมาบอกว่าหายแล้วนะ ดีขึ้นแล้วนะ คือใจเรามันฟูมันมีความสุข เรื่องพวกนี้เลยช่วยให้ความเหนื่อยมันหายไปเลย คนไข้ส่วนใหญ่ที่เดินเข้ามา และปรึกษาผ่านเพจ มีปัญหาด้านใดบ้างที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่ก็เรื่องสุขภาพนะคะ ปัญหาที่น่าสนใจคือคนส่วนใหญ่มีข้อมูลสุขภาพเยอะมากแต่ไม่รู้ว่าอย่างไหนที่เหมาะกับตัวเอง เราก็จะแนะนำวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นไป เคสไหนเป็นมากก็จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ว่าควรไปรักษาแนวทางไหนแบบนี้มากกว่าค่ะ อีกเรื่องที่เป็นปัญหาคือเรื่องของวินัยค่ะ หลายคนอยากหายไว อยากสุขภาพดี แต่ไม่มีวินัย พอดีขึ้นก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม สิ่งที่แก้ยากที่สุดเลยไม่ใช่ตัวโรค แต่เป็นตัวพฤติกรรมนี่แหละค่ะ คิดว่าอะไร คือจุดแข็ง ที่ทำให้มีคนติดตามเพจจำนวนมาก ตอบตามตรงนะคะ ไม่รู้ค่ะ (หัวเราะ) ไม่เคยมานั่งคิดเลยว่าอะไรเป็นจุดแข็ง รู้แค่ว่าถ้าเจออะไรที่คิดว่าเออ มันดีนะ ถ้าคนอื่นรู้แบบเราคงดี น่าจะดูแลตัวเองได้ ก็จะเอามาแชร์มาลง แค่นั้น โซเชียลเป็นช่องทางที่ทำให้คนรู้จักเพจหมอพลอย และตัวตนของ “คุณพลอย” ในแง่มุมที่เกี่ยวกับวิชาชีพ มีผลทำให้ภาพรวมของชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมเลยนะคะ ที่คลินิกก็ยังรับเคสวันละไม่เกิน 10 คนเหมือนเดิม อยากรักษาให้เต็มที่ทำตามแบบที่เรารัก ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็น “ไอดอล” หรือมีคนรู้จักเยอะขึ้นเลย อาจเพราะพลอยไม่ได้โฟกัสที่ยอดไลค์ยอดแชร์อะไรพวกนี้เลยนะ เพราะเรามีความสุขตั้งแต่ตอนที่ “ได้ทำ” “ได้ให้” ไปแล้ว ส่วนเรื่องอื่นที่ตามมาเหมือนเป็นกำไร เป็นกำลังใจให้มากกว่า เวลามีคนบอกว่าโห นี่คนแชร์ไปเยอะเลยนะเราก็รู้สึก อืม..ขอบคุณมากๆนะคะ แต่เราจะดีใจมากกว่าตอนที่มีคนบอกว่าเขาได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่เราทำ ได้ความสุขอย่างไรจากสิ่งที่เราให้ อย่างหลังนี่คือความสำเร็จที่อยากเห็นจากการทำเพจนี้ค่ะ ประสบการณ์ และการรับมืออย่างไร กับความเห็นที่ไม่สุภาพ แน่นอนว่าต้องมีความคิดเห็นบางอันที่บั่นทอนกำลังใจ ช่วงแรกที่เจอก็รู้สึกแย่ๆ ไปเหมือนกันค่ะ เคยคิดว่าไม่ต้องทำต่อดีกว่า อยู่เฉยๆ ก็สบายดีอยู่แล้วไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องมีคนมาว่าให้เสียใจด้วย เลยบอกกับน้องสาวว่าพอแล้ว ปิดเพจดีกว่า แต่ก็ได้น้องสาวนี่แหละบอกว่าให้ตั้งสติก่อน ไปนั่งเงียบๆ แล้วถามตัวเอง นึกถึงความรู้สึกตอนแรกว่าเราอยากทำเพจนี้เพื่อใคร เพื่อให้อะไร เราทำมันเพราะมีความสุขใช่ไหม ถ้าใช่ไปต่อ ถ้าไม่ใช่ปิดไปเลย เวลาเจอความเห็นแบบนี้ อย่างแรกเลยคือพิจารณาว่าที่เขาพูดว่ามันจริงไหม ถ้าจริงขอโทษแล้วรีบแก้ไข ถ้าไม่ จบแล้วปล่อยไปเลย มีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นหรือไม่ เมื่อกลายเป็นคนดังในโลกโซเชียล ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมนะคะ เพียงแต่ระมัดระวังเรื่องการสื่อสาร เช่น การตอบคำถาม การแนะนำข้อมูลต่างๆที่ลงให้ความรู้ในเพจเพราะจะมีผลกระทบกับผู้คนมากขึ้นกว่าเดิม มาถึงจุดนี้ คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วหรือยัง สำเร็จในระดับหนึ่งค่ะ ความตั้งใจของตัวเองในสามปีนี้คือ เราอยากจะเอาสิ่งที่ดีที่สุดของตัวเราออกไปให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นให้มากเท่าที่จะทำได้ ไม่รู้ว่าคนอื่นได้แค่ไหนนะคะ แต่มั่นใจว่าทุกครั้งที่ให้อะไรออกไปคือดีที่สุดที่ตัวเรามี เรื่อง: จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ภาพ: เฟซบุ๊ก "หมอพลอยกายภาพบำบัด หนองแค สระบุรี"