ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ทุกคนทุกที่ย่อมมีปัญหา เพียงแต่ว่าเป็นปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาส่วนรวม ใน พ.ศ. 2531 แม้ว่าผมจะทำงานที่ มสธ.แล้ว แต่ก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านสวนพลู เพราะยังต้องทำหน้าที่เป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อยู่ด้วย จนกระทั่งมีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมปีนั้น ผมก็ยังต้องติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปหาเสียงช่วยลูกพรรคของพรรคกิจสังคมในหลาย ๆ จังหวัด ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 1 ได้ ส.ส. 87 คน พรรคกิจสังคมเป็นดันดับ 2 ได้ ส.ส. 54 คน และอันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 48 คน ซึ่งทั้งสามพรรคนี้ได้มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคกิจสังคมได้รัฐมนตรีในหลาย ๆ กระทรวง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ โดยมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี วันหนึ่งที่บ้านสวนพลู ดร.สุบิน ปิ่นขยัน ส.ส.เชียงใหม่ และได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มาที่บ้านสวนพลู มาแจ้งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า จะมาขออนุญาตให้ผมไปช่วยงานที่กระทรวงพาณิชย์ พอดีตอนนั้นทางธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการได้ส่งเลขานุการคนใหม่ให้มาช่วยทำงานที่บ้านสวนพลูแล้ว ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงอนุญาต ผมจึงไปทำเรื่องที่มหาวิทยาลัยให้ส่งตัวไปช่วยราชการที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเดือนสิงหาคม ปี 2531 โดยมีตำแหน่งเป็นประจำสำนักเลขานุการรัฐมนตรี หรือ “หน้าห้องรัฐมนตรี” นั่นเอง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความยุ่งยากซับซ้อนพอควร เนื่องจากต้องคอยประสานงานระหว่างฝ่ายข้าราชการประจำ ตั้งแต่ปลัดกระทรวงลงมาจนถึงอธิบดี รองอธิบดี และหัวหน้ากองต่าง ๆ ที่จะมาให้ข้อมูลและนำเสนอเรื่องต่าง ๆ ให้รัฐมนตรีลงนาม ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยต้อนรับขับสู้กับนักการเมืองและพ่อค้าที่จะมา “ขอความอนุเคราะห์” (คำสุภาพของคำว่า “วิ่งเต้น” หรือ “ล็อบบี้”) ในนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงประชาชนที่จะมาติดต่อขอพบรัฐมนตรี โดยเฉพาะประชาชนในเขตเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่จะต้องได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังต้องไปทำงานให้ มสธ.ในบางเวลา เช่น การประชุมผลิตชุดวิชา (ชื่อเรียกเอกสารการสอนหรือตำราของ มสธ.) การไปสอนเสริมให้กับนักศึกษาในบางจังหวัด รวมถึงเป็นวิทยากรให้กับมหาวิทยาลัยในกิจกรรมต่าง เป็นต้น ผมจึงได้เจอกับพี่จิ๊บอยู่บ่อย ๆ ส่วนมากก็จะนัดทานข้าวกันหลังเลิกประชุม หรือไปร่วมปาร์ตี้ที่พี่จิ๊บมักจะจัดขึ้นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และพูดคุยกันในเรื่องของมหาวิทยาลัยอยู่เป็นประจำ ผมจึงเริ่มคุ้น ๆ หน้ากับสมาชิกของ “ทีมจิ๊บ” ที่ค่อย ๆ ขยายตัวนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปลายปี ผมไม่ค่อยได้เข้ามหาวิทยาลัยเท่าไหร่ เพราะงานที่กระทรวงในช่วงปีงบประมาณใหม่ตั้งแต่เดือนตุลาคมเริ่ม “คับคั่ง” เพราะรัฐบาลจะต้องผลักดันการส่งออกเพื่อช่วยระบายสินค้าการเกษตร คือ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง รวมถึงสินค้าส่งออกดาวรุ่ง จำพวกสิ่งทอ จิวเวลรี่ และอะไหล่รถยนต์ ก็ต้องรักษาตลาดไว้ให้ดี โชคดีที่ข้าราชการที่กระทรวงพาณิชย์มีคนเก่ง ๆ หลายคน รวมถึงข้าราชการในระดับปฏิบัติก็มีความขยันขันแข็งทุ่มเท ทำให้นโยบายต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี แม้จะมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตอยู่บ้าง แต่หลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่เกิดมาตั้งแต่รัฐมนตรีคนก่อน เช่น สต๊อกลม (การแจ้งปริมาณมันสำปะหลังอัดเม็ดเพื่อการส่งออกที่ผู้ส่งออกจะแจ้งปริมาณให้มากเกินกว่าที่มีอยู่จริง เพื่อรับเงินส่วนต่างจากการอุดหนุนของรัฐบาล) การประกันราคาพืชผล และการควบคุมการนำเข้าสินค้าบางชนิด เป็นต้น ซึ่งผมก็ต้องคอยประสานขอข้อมูลในเรื่องเหล่านั้นมาให้รัฐมนตรีคอยแถลงชี้แจงสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังเป็นธรรมเนียมของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องเอาอกเอาใจบรรดาสื่อมวลชน (ไม่ทราบว่ารัฐมนตรีคนใดสมัยใดเป็นผู้ริเริ่มไว้) เช่น เมื่อถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ต้องจัดหาของขวัญที่ “ดูดี” สักหน่อยไว้แจกผู้สื่อข่าวเหล่านั้น รวมถึงการจัดงานเลี้ยงสังสันทน์ให้เป็นที่ประทับใจอีกด้วย ซึ่งผมก็ต้องคอยดูแลในเรื่องนี้ ที่ทำให้ผมต้องเป็นธุระวุ่นวายในชีวิตอีกอย่างหนึ่งในช่วงปลายปี 2531 นั้นก็คือ ผมมีกำหนดจะจัดงานแต่งงานในต้นเดือนเมษายน 2532 จึงต้องเร่งสร้างเรือนหอ บนที่ดินที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กรุณาให้ไปซื้อมาตั้งแต่ปี 2526 และได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อนมาช่วยราชการที่กระทรวงพาณิชย์ แต่ที่ล่าช้ามานานก็เพราะต้องมาทำงานที่กระทรวงพาณิชย์นี่แหละ จึงทำให้ไม่มีเวลาไปดูการก่อสร้างในหลาย ๆ ช่วง ชีวิตของผมจึงค่อนข้างอีนุงตุงนังมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องไปร่วมงานเลี้ยงที่มีผู้เชิญให้ไป ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ ทางมหาวิทยาลัย และเพื่อนฝูง เรียกว่า “ยุ่งแต่สนุก” อยู่จนข้ามปีใหม่ ในช่วงปีต่อมา ผมยิ่งมีชีวิตที่ยุ่งเหยิงมากกว่าเดิม เพราะงานที่กระทรวงพาณิชย์ก็มีมากขึ้น ตามนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ต้องเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง ซึ่งผมก็ต้องติดตามไปด้วย อย่างไรก็ตามก็พอทราบข่าวจากทางมหาวิทยาลัยว่า เกิด “ข่าวคาว” เกี่ยวกับการทุจริตขึ้นหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการก่อสร้างอาคารที่สืบเนื่องมาจากการขยายตัวของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับบุคลากร ที่กำลังมีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ดูเหมือนว่าผู้บริหารก็ไม่ได้สนใจใยดีอะไร โดยผู้บริหารคณะนี้เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน แต่เนื่องจากอธิการบดีคนใหม่ไม่ได้มีบารมีมากเหมือนกับอธิการบดีคนก่อน จึงทำให้การแบ่งพรรคแบ่งพวกยิ่งมีความรุนแรง และนำไปสู่สภาพของต่างคนต่างทำงาน แต่ก็ไม่เลวร้ายเท่ากับที่มีฝ่ายต่อต้านและพาลขัดขวาง อย่างที่เรียกว่า “มือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำ” พี่จิ๊บโทรศัพท์มาหาผมในวันหนึ่งบอกว่า “คงจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว”