รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ อดีตอธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Seri Phongphit ระบุว่า... #ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก #โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ #สู่นิวนอร์มอลไทย โคโรนาไวรัสไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาเตือนก่อนหน้านี้แล้ว คือ SARS (2004) และ MERS (2012) แต่ที่ใหม่และคาดไม่ถึง คือ ความร้ายแรงของการระบาดที่ไปทั่วโลกทุกประเทศ ทุกเขตพื้นที่มีที่มนุษย์อยู่ เร็วและแรงจนมนุษย์ที่เก่งกาจแค่ไหน มีวิชาความรู้และเทคโนโลยีดีเพียงใดก็เอาไม่อยู่ ปีเดียวเป็นสาเหตุให้คนตายทั่วโลกไปเกือบ 2 ล้านคน ติดเชื้อไปกว่า 80 ล้าน แต่ WHO คาดการณ์ว่าน่าจะติดไปกว่า 1,000 ล้านคนแล้ว เพียงแต่ไม่มีอาการ หรือตรวจไม่พบ หรือไม่ได้รับการตรวจ เป็นไวรัสที่เปลี่ยนโลกอย่างแท้จริง เพราะทำให้เศรษฐกิจพังทลาย คนตกงาน ขาดรายได้ อดอยาก ไร้ที่อยู่อาศัย ต้องพึ่งความใจบุญของญาติพี่น้องและของเพื่อนมนุษย์เพื่อให้อยู่รอด เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถเยียวยาปัญหาไม่ว่าสุขภาพ หรือเศรษฐกิจของพลเมืองที่เจ็บป่วยและได้รับผลกระทบได้ทั้งหมด คิดดูว่า คนมีงานทำดีๆ มีศักดิ์ศรีและเงินเดือนสูงอย่างนักบิน พนักงานการบินทั้งบนเครื่องหรือบนพื้นดินต่างก็ตกงานเพราะเครื่อบินบินไม่ได้ การเดินทางหยุด การท่องเที่ยวยกเลิกไปโดยปริยาย งานดีๆ ที่เป็นแหล่งรายได้ให้ประเทศ ให้ท้องถิ่นอย่างโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก บริษัททัวร์ ธุรกิจการท่องเที่ยวต่างๆ ปิดกิจการ ล้มละลาย นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ ประเทศพัฒนาแล้ว ที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ การสาธารณสุขอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป เอเชีย กลายเป็นประเทศที่มีการระบาดสูงสุด คนตายเป็นใบไม้ร่วง จนระยะแรกๆ นั้นในบางประเทศอย่างอิตาลี และบางรัฐอย่างนิวยอร์คของอเมริกา โรงพยาบาลมีเตียงรองรับผู้ป่วยไม่พอ ไม่พอทั้งห้องไอซียูหรือทั่วไป ต้องเลือกว่าจะรักษาใครก่อน แม้จะอยู่ในขั้นสาหัสเหมือนกัน รวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิตหลายอย่างที่มีไม่พอ ผลิตไม่ทัน ที่สำคัญ ไม่มียา ต้องรักษาตามอาการ ซึ่งก็ไล่ทันบ้างไม่ทันบ้าง เพราะแม้เป็นโคโรนาไวรัสและใกล้เคียงกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่มีความแตกต่างและร้ายแรงที่ซับซ้อนจนยากที่การแพทย์จะเข้าใจได้ทั้งหมดและรักษาได้ ตอนแรกนึกว่ามีผลต่อปอด ทางเดินหายใจเท่านั้น ไปๆ มาๆ ส่งผลกระทบไปทั่วแม้แต่สมองและระบบประสาท ความหวังมากที่สุด คือ วัคซีน ซึ่งเร่งพัฒนากันทั่วโลกกว่าร้อยโครงการ ด้วยวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า ทำให้การผลิตวัคซีนเร็วกว่าที่ผ่านมามาก เพียง 10 เดือนก็ประกาศผลและรับรองว่าปลอดภัยและเริ่มใช้แล้วในหลายประเทศ เพียงแต่กว่าจะหยุดไวรัสนี้ได้คงใช้เวลาอีกเป็นปี นอกนั้นยังมีคำถามอีกมาก ปริมาณการผลิตจะเพียงพอหรือไม่ กระจายไปทั่วโลกได้เมื่อไร วัคซีนจะป้องกันได้นานเท่าไร ต้องฉีดทุกปีหรือไม่ และถ้าไวรัสตัวนี้กลายพันธุ์ วัคซีนยังจะป้องกันได้หรือไม่ จนถึงวันนี้ดูจะมีคำตอบทุกเรื่อง แต่ที่สุดก็ต้องรอต่อไปว่า จะได้จริงอย่างที่ “เชื่อ” กันนั้นหรือไม่ #สุขภาพกับเศรษฐกิจ #เสรีภาพส่วนตัวกับเสรีภาพส่วนรวม “สังคมโควิด เศรษฐกิจโคม่า” รัฐบาลในประเทศต่างๆ มีวิธีรับมือกับโควิด-19 แตกต่างกัน ในระยะแรกที่เริ่มระบาดหนัก ส่วนใหญ่ล็อคดาวน์เข้มตั้งแต่พื้นที่แคบๆ กว้างออกไปจนถึงทั้งประเทศ แรกๆ ก็ไม่เท่าไร พอเข้าใจ นานเข้าผู้คนก็รับไม่ไหว ออกมาต่อต้านมาตรการของรัฐ สาเหตุสำคัญ เพราะการล็อคดาวน์มีผลอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ เมื่อธุรกิจปิดหมด คนตกงาน ไม่มีรายได้ บางประเทศมีระบบสวัสดิการที่ดีพอสมควรอย่างเยอรมนี ที่ชดเชยคนทำงานที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างดี แต่อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าที่ไหน แต่ไม่มีที่ไหนที่พอจะเป็นโมเดลหรือตัวอย่างของความสมดุลระหว่าง “สุขภาพกับเศรษฐกิจ” คือควบคุมการระบาดได้และไม่ทำร้ายเศรษฐกิจจนเกินไป จะมีแต่เลือกว่าจะเอาสุขภาพมาก่อน หรือเอาเศรษฐกิจ ผู้นำอย่างนายทรัมป์ของสหรัฐ นายโบลโซนาโรของบราซิล นายจอห์นสันของสหราชอาณาจักรในระยะแรก และอีกหลายคนไม่ให้ความสำคัญกับโควิด-19 เท่ากับเศรษฐกิจ เป็นผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศเหล่านั้นพุ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ มาก และก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจรอดได้จริง มีการเดินขบวนประท้วงมาตรการของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมากเกินไป ขัดรัฐธรรมนูญ ลงถนนกันมากมายในหน้าร้อนที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่า รัฐบาลทั้งหลายไม่ได้อ่อนข้อ เพราะคาดการณ์ว่า หน้าหนาวนี้มีการระบาดรอบใหม่แน่ และก็เป็นไปตามคาด #โลกาภิวัตน์กระเทือน โลกยุคใหม่เชื่อมต่อกันในแทบทุกด้านอย่างไม่เคยมีมาก่อน การเดินทางสะดวกสบาย ใครๆ ก็บินได้ อินเทอร์เน็ตที่มีพลังสูง ทำให้สะดวกในการสื่อสารคมนาคม การซื้อขายในประเทศระหว่างประเทศ เศรษฐกิจยุคใหม่จึงเป็นเศรษฐกิจไร้พรมแดน มีการลงทุนข้ามชาติ ที่ใดเงื่อนไขดีกว่า ถูกกว่า แรงงาน โครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ พร้อมก็ไปตั้งฐานหรือย้ายฐานไปที่นั่น เราจึงเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกจากอเมริกา ยุโรป แห่ไปลงทุนในประเทศจีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา มีการจัดตั้งความร่วมมือแบบหุ้นส่วนภาคีระดับภูมิภาคมากมาย หนักแน่นอย่างประชาคมยุโรป มาถึงอาเซี่ยน APEC, RCEP, CPTTP และอื่นๆ อีกมากมายที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเอื้อความสัมพันธ์ความร่วมมือ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ โควิด-19 มาทำให้โลกาภิวัตน์และกลไกภาคีภูมิภาคต่างๆ “วงแตก” เริ่มตั้งแต่แรกเริ่มที่ “แย่ง” อุปกรณ์การแพทย์ การสาธารณสุขกัน อย่างเครื่องช่วยหายใจในห้องฉุกเฉินไอซียูบริษัทอเมริกันไปลงทุนที่จีน นายทรัมป์ก็สั่งให้ส่งให้อเมริกาก่อน แม้อียูสั่งจากจีน ส่งผ่านมาแวะที่กรุงเทพฯ นายทรัมป์ยังสั่งให้ "โจรสลัด" แย่งเอาไปอเมริกาหน้าตาเฉย อุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงยารักษาตามอาการผลิตกันมากที่อินเดีย ก็ถูกประเทศของบริษัทที่ไปลงทุนอ้างสิทธิที่จะได้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก่อนคนอื่น ซึ่งไม่ว่าที่ไหนก็มีปัญหาการผลิต เพราะการล็อคดาวน์ทำให้การขนส่งวัตถุดิบจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง ไม่ว่าในประเทศหรือระหว่างประเทศมีปัญหา ล่าช้า ขาดแคลน จนทำให้ผลิตไม่ได้ ผลิตไม่ทัน จึงต้องแย่งกันวุ่นวาย นั่นเป็นเรื่องโควิด แต่เรื่องใหญ่กว่านั้น คือ โรคระบาดครั้งนี้ทำให้การนำเข้าส่งออกกระทบอย่างหนัก อาจมีบางภาคส่วนอย่างอาหาร ปัจจัยสี่ที่ไม่ได้รับผลกระทบ อาจจะได้ผลเป็นบวกด้วยซ้ำ แต่โดยทั่วไปแล้วทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่พึ่งการส่งออกมากจะได้รับผลกระทบมากที่สุด การส่งออกติดลบสูงสุดในรอบหลายปี เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ที่สั่งสินค้าเข้ามีปัญหา คนไม่มีกำลังซื้อ ขายของไม่ได้ เขาก็ไม่สั่งของเข้าประเทศ และหันไปผลิตเอง กินเอง ใช้เอง อย่างที่จีนและอีกปลายประเทศประกาศให้หันมา “พึ่งตนเอง” และสนับสนุนให้ประชาชน “พึ่งตนเอง” ให้มาก อะไรทำเองได้ก็ให้ทำ ไม่ใช่รอแต่ไปซื้อที่ตลาด แม้ว่า เมื่อโควิดผ่านไป เศรษฐกิจระหว่างประเทศค การลงทุนใหญ่ๆ ก็คงไม่เปลี่ยนหรือย้ายฐานกับประเทศของตนหมด แต่คงมีการคิดคำนวณปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเดิม และคงจะเลือกธุรธิจที่มั่นใจในประเทศที่มั่นคงทางการเมือง ทางสังคมมากที่สุด ดูกรณีการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม หรือจากจีนไปเวียดนามก็น่าจะเป็นเพราะเหตุผลนี้ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะในอนาคตใครจะไปรู้ว่าจะมีอะไรแบบโควิดหรือร้ายแรงกว่าตามมาอีก การแย่งยาแย่งอุปกรณ์การแพทย์นั่นเกิดขึ้นก่อนนี้ วันนี้มีการแย่งวัคซีนกัน ประเทศรวยคงได้วัคซีนก่อนประเทศจน เพราะมีเงินซื้อ มัดจำและจองไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งประเทศยากจนทำไม่ได้ แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะตั้งกองทุนเพื่อซื้อวัคซีนให้ประเทศจนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่จะได้เท่าไร ได้เมื่อไร และส่งไปทั่วถึงเพียงใดก็น่าสงสัย อาจจะรอให้ประเทศรวย “เอาจนพอ” ไปก่อนกระมัง #สู่นิวนอร์มอลไทย ๑.วิถีชีวิตปกติแบบเดิมๆ จะเปลี่ยนไป ชีวิตประจำวันส่วนตัว ต้อง “พึ่งตนเอง” ดูแลตัวเอง ครอบครัวให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างภูมิต้านทานที่ดี และป้องกันโรคระบาดที่ทางการแนะนำมาตลอด คือ ล้างมือ ถือระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ไม่จัดการพบปะสังสรรค์ ไปในที่คนหมู่มาก การทำงานที่เปลี่ยนไป ทำงานที่บ้านมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสื่อสารมากขึ้น นิวนอร์มอลคนน่าจะสุขภาพดีขึ้น เพราะมีเวลาคิด มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเอง ทำอาหารกินเอง ปลูกผักกินเอง ออกกำลังกาย คิดหางานทำใหม่ๆ ไม่ต้องอายใคร ตราบใดที่ยังมีแรงมีกำลังและสติปัญญา ย่อมมีหนทางเสมอ แม้มีการผูกขาด เมืองไทยยังให้โอกาสคนอีกไม่น้อย แม้มีเหลือแต่ช่องน้อยๆ ที่น่าจะลอดได้ ตราบใดที่โครงสร้างใหญ่ไม่เปลี่ยนไม่เปิดช่องใหญ่ก็ลอดช่องน้อยกันไปก่อน ๒.จัดระบบเศรษฐกิจใหม่ พึ่งพาการส่งออกน้อยลง เน้นการพึ่งตนเองของครอบครัวและชุมชน ซึ่งมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีโมเดลเกษตรทฤษฎีใหม่ โคกหนองนา ธนาคารน้ำใต้ดิน และอื่นๆ ที่เป็นนว้ตกรรมของชุมชนคนรากหญ้า ที่ยามลำบากคิดได้และพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเอง ประเด็นสำคัญน่าจะไม่ใช่การเกษตร ซึ่งดูจะตื่นตัวและปักหลักได้ดีพอสมควรแล้ว แต่อยู่ที่ภาคแรงงานอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งกลายเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ มากกว่าแรงงานในภาคเกษตร คนเหล่านี้จะอยู่รอดในนิวนอร์มอลได้อย่างไร ปัญหาหนี้สินครัวเรือน การขาดทักษะในงานใหม่ๆ เพื่อธุรกิจการประกอบการใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องปรับรูปแบบการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศมากกว่าเดิม เพื่อส่งเสริมงาน อาชีพ รายได้ให้คนภาคแรงงานและภาคเกษตรมากที่สุด พร้อมกับการพัฒนาภาคบริการที่ต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้อยู่รอดได้ ๓.ปีที่โควิดมาเปลี่ยนโลก มาพร้อมกับปัญหาการเมืองใหม่ การชุมนุมประท้วงที่คล้ายกับ “การขบถ” อาจนำไปสู่ “การปฏวัติประชาชน” ได้ถ้าหากไม่มีการ “ประนีประนอม” ระหว่างคนรุ่นใหม่กับอำนาจรัฐ ที่ผูกขาดอำนาจ รวมศูนย์อำนาจ บิดเบือนและใช้อำนาจตามอำเภอใจ (arbitrarily) ด้วยกลไกรัฐธรรมนูญที่กำหนดโครงสร้างให้สามารถสืบทอดอำนาจได้ (ไม่ต่างจากหลายประเทศ “ด้อยพัฒนา” หรือ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” ที่ผู้นำแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองเป็นประธานาธิบดีได้หลายสมัยหรือตลอดชีพ) การมาด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ประกอบกับความไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีธรรมาภิบาลในการทำงานตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มทนไม่ได้ และต้องการการเปลี่ยนแปลง เมื่อมี “คนรุ่นใหม่” รวมเด็กนักเรียนนักศึกษารวมตัวกันเป็นขบวนการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเด็นต่างๆ ถูกดึงออกมาสู่สาธารณะ เมื่พรมถูกเปิด ขยะก็ปรากฎ ปี 2564 จึงเป็นปีเปลี่ยนผ่าน หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมืองไทย ที่วันนี้สนามรบไม่ใช่ถนนหรือสี่แยกที่ชุมนุมประท้วง หากเป็นมือถือ อินเทอร์เน็ตมากกว่า ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร การต่อสู้ทางสัญลักษณ์ที่เป็นพลังทางสังคมที่ส่งต่อกันภายในเสี้ยววินาทีไปเป็นหมื่นเป็นแสนคน ต่อเนื่องแบบไร้ขีดจำกัด เป็นขบวนการใหม่และพลังอย่างใหม่ที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ รัฐบาลที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน คิดว่าคนส่วนใหญ่เข้าข้างตนเอง ฟังแต่คนรอบข้างและเสียงเชียร์ ก็จะไม่ยอมฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีแต่ “เด็กๆ” หรือคนที่ไปชุมนุม แต่คนอีกจำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเสียงเพรียกแห่งกาลเวลาที่ดังขึ้นๆ หรือเป็น “ลูกบอลหิมะ” (snow ball) ที่กลิ้งจากภูเขาสูง กลายเป็นหิมะก้อนใหญ่ลงมาทำลายบ้านเรือน ถ้ารัฐบาลยังคิดว่าตนเองมีอำนาจ หวงอำนาจ ไม่ยอม “คืนอำนาจให้ประชาชน” แก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการชีวิตของตนเอง เงินภาษีของตนเอง ทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง ศักดิ์ศรีและชะตากรรมของตนเอง เป็นรัฐบาลเผด็จการที่จะประสบชะตากรรมเดียวกับเผด็จการอื่นๆ ในอดีต การเมืองไทย “ลงถนน” เพราะการเมืองในรัฐสภาพึ่งพาได้ยาก ได้ประชาธิปไตยปลอมๆ มีแต่นักการเมืองที่ไม่อยู่ข้างประชาชน แต่ต้องการผลประโยชน์ส่วนตน พวกพ้อง นายทุน ที่ต่างตอบแทนในระบบธนาธิปไตย แบบนี้จะไม่ให้คนที่ต้องการประชาธิปไตยจริงๆ ที่เคารพในสิทธิเสรีภาพ และมีธรรมภิบาลรับได้อย่างไร หวังว่าจะไม่ใช่ “ญาณทัศนะ” (intuition) หากเป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวที่อาจผิดที่ว่าบ้านเมืองเราวันนี้ สถานการณ์คล้ายกับตอนที่กรุงศรีอยุธยากำลังจะแตกครั้งที่สอง ลองกลับไปศึกษาว่า สาเหตุเพราะอะไร ทำไมพม่าไม่ต้อง “ออกแรง” อะไรมากก็ตีกรุงศรีอยุธยาแตก เผากรุงไปจนวอดได้ สนิมเกิดแต่เนื้อในตน ไวรัสโคโรนาระบาดเร็วและแรง แต่ไวรัสอารมณ์ความรู้สึก ที่เติมสำนึกใหม่ให้ผู้คนทั่วไปดูจะเร็วและแรงไม่น้อยไปกว่า และอันตรายกว่าอีก แม้ปี 2564 โควิดอาจไม่ระบาดรอบ 3 แบบที่เกิดในประเทศอื่นๆ แต่ถ้าไม่ปรับตัว กระจายอำนาจให้คนไทยได้ดูแลตัวเองให้ใช้สติปัญญาซึ่งมีมากมายให้เป็นประโยชน์ บ้านเมืองคงรอดยาก เศรษฐกิจคงพินาศย่อยยับ แต่ประชาชนคงไม่ยอมง่ายๆ ให้ไปถึงจุดนั้น และหากการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมยังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นตามมาก็สุดจะเดา ภาวนาขอให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมใหม่แบบสันติ เสรี พพ 27 ธันวาคา 2563