ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล การเมืองมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ยิ่งในมหาวิทยาลัยยิ่งมีความลึกลับซับซ้อน “ทีมจิ๊บ” หรือกลุ่มคนสนิทของอาจารย์พรพิมลมีอยู่ราว 20 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนอาจารย์ในสาขาวิทยาการจัดการ ด้วยวิธีการผูกมิตรแบบไทย ๆ คือสร้างความสนิทสนมกันใน “วงข้าว” ร่วมกับการเชิญไปร่วมงานรื่นเริงเฮฮาที่เรียกว่า “ปาร์ตี้” ก็ทำให้เกิดความเป็นกลุ่มเป็นก้อน จากกลุ่มที่ร่วมสนุกสนานไปสู่ “กลุ่มการงาน” ซึ่งก็เป็นเทคนิคการบริหารแบบไทย ๆ นั่นเอง ในการออกสังเกตการณ์อบรมประสบการณ์วิชาชีพครั้งแรกของผมที่สวางคนิวาศ ในช่วงบ่ายของการอบรมวันแรกผมก็ได้ไปเจอพี่จิ๊บในช่วงพักเบรก พี่จิ๊บนั่งแวดล้อมอยู่กับอาจารย์คนอื่น ๆ อีก 3 คน พอผมเดินผ่านไปก็เชิญผมให้นั่งร่วมโต๊ะ แล้วก็แนะนำให้ผมรู้จักกับทุกคนที่นั่งอยู่นั้น ซึ่งความจริงเราก็พอรู้จักกันบ้างแล้วในตอนช่วงเช้าที่มีการแนะนำวิทยากร รวมทั้งตัวผมด้วยก็ได้รับการแนะนำตัวในห้องประชุมในระหว่างพิธีเปิดการอบรมนั้นเช่นกัน พี่จิ๊บบอกว่าการมาอบรมเขาก็มีอาหารให้กินครบทุกมื้อ รวมทั้งของว่างและอาหารรอบดึก แต่เมื่อมาที่เมืองปากน้ำก็น่าจะหาอาหารทะเลอร่อย ๆ กินกัน พวกเราเลยนัดกันว่าเย็นนี้จะไปกินอาหารกันที่ “ริมเขื่อน” คือบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ข้าง ๆ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ตรงกันข้ามกับองค์พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลลงอ่าวไทย โดยทางราชการได้กั้นคันซีเมนต์เป็นแนวยาวเพื่อกันน้ำเซาะไปตลอดแนวหลายร้อยเมตร พร้อมกับมีลานคอนกรีตยาวไปตามแนว “เขื่อน” นั้น ราว 5 โมงเย็น หลังจบการอบรมในช่วงบ่าย ผมมารอหน้าห้องประชุมตามที่ได้นัดหมายกันไว้ เรานั่งกันไปด้วยรถ 2 คัน ๆ ละ 4 คน ผมนั่งรถของพี่จิ๊บซึ่งเป็นรถญี่ปุ่นขนาดใหญ่พอสมควร อีกคันก็มีอาจารย์ผู้หญิงอีกคนหนึ่งเป็นคนขับ มีผมกับเพื่ออาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์อีกคนหนึ่งที่เป็นผู้ชาย แต่แยกนั่งไปคนละคัน สักครึ่งชั่วโมงก็มาถึงที่ริมเขื่อน บนลานคอนกรีตยาวหลายร้อยเมตรนั้น มุมหนึ่งมีรถเข็นขายอาหารนานาชนิดจอดเรียงรายอย่างเป็นระเบียบนับสิบ ๆ คัน มีโต๊ะเก้าอี้เหล็กแปะยี่ห้อน้ำอัดลมที่มีแข่งขันกันอยู่ 2 ยี่ห้อวางเป็นชุด ๆ อยู่รอบ ๆ รถเข็นแต่ละคัน รถเข็นเหล่านี้มีกระบะน้ำแข็งขนาดพอ ๆ กันกับโต๊ะ วางอยู่ 2-3 กระบะบ้าง 3-4 กระบะบ้าง ซึ่งบนนั้นจะมีกุ้งหอยปูปลาทะเลวางโชว์ไว้ยั่วน้ำลาย ลูกค้าเมื่อไปถึงก็มีหน้าที่ไปชี้ ๆ ว่าจะกินอะไร จำนวนเท่าใด โดยคิดราคาตามน้ำหนัก ซึ่งดูเหมือนราคาจะย่อมเยามากเมื่อเทียบกับร้านอาหารประเภทเดียวกันในภัตตาคาร แต่ความอร่อยไม่น้อยหน้ากว่าเลย แถมยังได้บรรยากาศแบบ “บ้าน ๆ” ของเมืองปากอ่าว ท่ามกลางลมทะเลที่อยู่ใกล้ ๆ ที่แรงพอ ๆ กันกับนั่งอยู่ชายหาด แถมยังได้ชมพระอาทิตย์ตกดินที่มีองค์พระเจดีย์กลางน้ำเป็นฉากหน้า สร้างความโรแมนติกและเพิ่มความเอร็ดอร่อยได้เป็นอย่างมาก พวกเราอาโต๊ะ 2 ตัวมาต่อกัน สั่งอาหาร “ดี ๆ” มาพอประมาณ แล้วนั่งดื่มกินไปจนเกือบ 1 ทุ่ม แล้วก็ต้องกลับมาที่สวางคนิวาศเพื่อทำหน้าที่วิทยากรในรอบค่ำของแต่ละคนต่อไป แต่ผมยังจำภาพของการดื่มกินในเย็นวันนั้นได้อย่างไม่ลืม ในช่วงหนึ่งพี่จิ๊บได้บอกกับพวกเราว่า ที่แกมาเป็นอาจารย์ที่นี่ (มสธ.) ก็เพราะเพื่อนอาจารย์ที่จบธรรมศาสตร์ด้วยกันมาชวนว่า ผู้บริหารของ มสธ.เป็นคนหัวก้าวหน้า ต้องการคนที่จะมาร่วมบุกเบิกสร้าง “มหาวิทยาลัยแนวใหม่” เป็นมหาวิทยาลัยที่ทุกคนจะมีความอิสระในการสร้างสรรค์ มีความก้าวหน่าในหน้าที่การงานตามผลงาน ที่ผู้บริหารจะเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ทุกคนจะได้ปรากฏชื่อเสียงว่าเป็นผู้ร่วมในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางการศึกษานั้น ซึ่งเมื่อเข้ามาใหม่ ๆ ทุกคนก็ดูมุ่งมั่นและมีความเชื่อความฝันในแนวนั้นกันทุกคน แต่พออยู่มาได้ 4-5 ปีนี้มันเริ่มจะมีอะไร “ทะแม่ง ๆ” และดูเหมือนว่าระบบราชการกำลังจะเข้าครอบงำมหาวิทยาลัยแห่งนี้มากยิ่งขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่น่าหวาดหวั่นกว่านั้นก็คือ “การแบ่งพรรคแบ่งพวก” และความไม่เท่าเทียม หรือ “ความไม่ยุติธรรม” พี่จิ๊บได้ยกตัวอย่างว่า ข้าราชการที่นี่มี “ศักดินา” ต่างกัน บุคลากรในสาย ก.หรือพวกอาจารย์นั้นเป็นอภิสิทธิ์ชนเหนือใคร มาทำงานก็ไม่ต้องลงเวลาหรือเซ็นชื่อในสมุดบันทึกเวลาทำงาน ส่วนบุคลากรสาย ข. สาย ค. นอกจากเงินเดือนจะน้อยกว่าพวกอาจารย์แล้ว ยังต้องทำงานหนักกว่า และถูกควบคุมโดยกฎระเบียบต่าง ๆ มากกว่า รวมถึงหนทางก้าวหน้าก็น้อยกว่าพวกอาจารย์อีกด้วย ซึ่งพี่จิ๊บบอกว่าเมื่อได้มาทำงานกับบุคลากรสาย ข . และ ค. จึงได้เข้าใจถึงปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหานี้ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับ “การแสวงหาประโยชน์” จากบุคลากรที่อยากอยู่รอด โดยการยอมสวามิภักดิ์เข้าเป็นพวกกับผู้บริหารบางคน แล้วผู้บริหารก็ทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพื่อให้คนกลุ่มนั้นมาเป็นพวกของตน เพื่อสร้างพลังต่อรองกับผู้บริหารคนอื่น ๆ ด้วยกัน ซึ่งต่างคนก็ต่างพยายามสร้างบารมีแข่งกัน โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังจะมีการเปลี่ยนตัวอธิการบดี ผมออกจะไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องการเมืองในมหาวิทยาลัยแบบนั้น แม้ว่าจะเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ ได้เรียนและมีประสบการณ์ทางการเมืองมาบ้าง แต่ก็มองว่ามหาวิทยาลัยไม่น่าจะมีปัญหาถึงปานนั้น หรือถ้าจะมีแล้วบุคลากรใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะช่วยอะไรหรือทำอะไรได้บ้าง เพราะคนที่จะทำเรื่องใหญ่ ๆ ได้นั้นก็ต้องเป็นคนใหญ่ ๆ ด้วยเช่นกัน พอผมพูดออกไปเช่นนั้นพี่จิ๊บก็ตบที่หลังมือของผมที่กำลังจะตักอาหารเข้าปาก แล้วพูดว่า “อาจารย์ก๊วยเจ๋งเอ๋ย ที่ประเทศชาติไม่เจริญก็เพราะคนไทยชอบพูดอย่างนี้แหละ คนตัวเล็ก ๆ จะทำอะไรได้ การเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเป็นเรื่องของผู้ปกครอง ราษฎรตาดำ ๆ ไม่เกี่ยว นี่เราเป็นถึงระดับครูบาอาจารย์ยังมาพูดแบบนี้ แล้วชาวบ้านตาสีตาสาล่ะเขาจะพึ่งใคร เอาเถอะพี่จะบอกอะไรให้อย่างหนึ่ง กลับไปคุยกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แล้วถามท่านว่าท่านคิดอย่างที่อาจารย์พูดหรือไม่ แล้วทำไมท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถึงเป็นผู้บารมีมาก และมีคนเคารพนับถือมากจนทุกวันนี้” ผมไม่ได้กลับมาถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถึงเรื่องที่พี่จิ๊บบอกให้พูดนี้แต่อย่างใด แต่ผมมาคิดได้เองในหลายวันต่อมาว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรา และสามารถเปลี่ยนแปลงหรือเป็นไปได้ด้วยตัวเรา เพียงแต่จะต้องหาคนที่เหมือนเราให้มาก ๆ แล้วช่วยกันสร้างพลังให้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ความเป็นครูอาจารย์นี่แหละ สร้างพลังเช่นนั้น