งดงาม มหัศจรรย์ จากเอกภพ ด้วยเนบิวลาเรืองแสง กระจุกดาวเปิด และเนบิวลาขนสุนัขจิ้งจอก เรียงตัวกันคล้ายต้นคริสต์มาส สุขสันต์วันคริสต์มาส นะชาวโลก
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “Merry Christmas 2020” #สุขสันต์วันคริสต์มาสมิตรรักแฟนเพจด้วย #ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ
ภาพนี้คือ NGC 2264 เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของวัตถุทั้งหมดในภาพ ประกอบด้วย เนบิวลาเรืองแสง (Emission Nebula) และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง บริเวณกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros)
แสงสีแดงในภาพเกิดจากไฮโดรเจนในอวกาศดูดซับพลังงานจากดาวฤกษ์รอบๆ แล้วปลดปล่อยแสงออกมาในช่วงคลื่นเฉพาะ เรียกว่า “ไฮโดรเจนแอลฟา” ในช่วงคลื่นแสงสีแดง เนบิวลานี้จึงมีสีแดงสว่างโดดเด่น เรียกเนบิวลาประเภทนี้ว่า “เนบิวลาเรืองแสง”
จุดเด่นของ NGC 2264 คือ บริเวณกลางภาพมีดาวฤกษ์เกาะกลุ่มกันอย่างหลวม ๆ เรียกว่า “กระจุกดาวเปิด” #มีดาวสว่างสีฟ้าและสีขาวเรียงตัวกันเป็นรูปร่างคล้ายต้นคริสต์มาส จึงมีชื่อเรียกว่า “กระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster)” ด้านบนมีกลุ่มแก๊สรูปร่างคล้ายกรวย มีชื่อว่า “เนบิวลากรวย (Cone Nebula)” มีดาวสว่างเด่นบนเนบิวลากรวยเป็นยอดของต้นคริสต์มาส
ส่วนของเนบิวลากรวย และบริเวณโดยรอบกระจุกดาวคือก้อนแก๊สไฮโดรเจนขนาดใหญ่ เฉพาะส่วนที่เป็นรูปกรวยคือก้อนแก๊สและฝุ่นในอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำ แก๊สและฝุ่นเหล่านี้ดูดซับแสงเรืองของดวงดาว และเนบิวลาที่อยู่ฉากหลังจึงมองเห็นเป็นสีคล้ำกว่า
นอกจากนี้ กลุ่มแก๊สสีฟ้าด้านล่างของภาพมีกลุ่มแก๊สสีแดงถัดลงมา รูปร่างแปลกประหลาด บริเวณนี้เรียกว่า “เนบิวลาขนสุนัขจิ้งจอก (Fox Fur Nebula)”
ภาพ : ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์/ กีรติ คำคงอยู่
TRT-SBO/ CDK17/ FLI16803
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.”
![](https://siamrath.co.th/files/styles/750/public/img/20201225/28bcf9eb98323cbf7873a5118afda8a3a2b741652f3fe207991bb188ac6193c2.jpg?itok=Keeta8Pf)