เมื่อการท่องเที่ยวของไทยมาถึงโค้งสุดท้ายของปี เริ่มมีบทสรุปจากวิกฤติโควิด-19 เป็นระลอกแม้จะมีมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวจากภาครัฐในหลากหลายรูปแบบ เพราะจากผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ กลุ่มตัวอย่างมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 77.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปี 2562 หรือก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่การท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอนสูง เมื่อกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มอง ว่า หากมีการพบผู้ติดเชื้อในประเทศอีก ก็จะมีผลต่อการปรับแผนการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงยังมีประเด็นการเมืองที่ต้องติดตามอีกด้วย กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่าง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้คนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 มีจำนวนประมาณ 24.3 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 ที่มีจำนวนพียง 3.9 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างเดือน กรกฎาคม-กันยายน 2563 กลุ่มตัวอย่างกว่า 60 % มีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งแบบค้างคืนและแบบไปเช้า-เย็นกลับ ขณะที่ยังไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวมีสัดส่วน 40 % อีกทั้งเพื่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วง 3 เดือนสุดท้าย จึงทำให้รัฐบาลทยอยออกมาตรการกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น อาทิ การเพิ่มวันหยุดยาวพิเศษในวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2563 และเปลี่ยนแปลงวันหยุดชดเชยจากวันที่ 7 ธันวาคม เป็นวันที่ 11 ธันาวาคม 2563 เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดมากกว่าวันธรรมดา รวมถึงการต่ออายุและปรับเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจากข้อมูลต่างๆ ทำให้ทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ หากไม่มีการกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้งของโรคโควิด-19 ในประเทศ และปัญหาการเมืองอยู่จำกัดเฉพาะพื้นที่ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะยังรักษาระดับการเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีจำนวน 36.1 ล้านคน-ครั้ง และการใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ภาพรวมตลาดไทยเที่ยวไทยทั้งปี 2563 การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยน่าจะแตะที่กรอบล่างของการประมาณการ โดยอยู่ที่ประมาณ 89.5 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 46.4% และสำหรับการใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.06 แสนล้านบาท หดตัว 53.3% จากปี 2562 เที่ยวไทยยังรักษาระดับการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวนี้ เป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวคงต้องเร่งทำตลาดสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้โอกาสจากการที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงนี้ มาทำแคมเปญการตลาดควบคู่กันไป โดยใช้ประโยชน์จากช่องทางเทคโนโลยีมากขึ้น อาทิ การทำตลาดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเหมาะกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการทำตลาดอย่างกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และยังเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวและที่พัก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการก็ควรที่จะมีการพัฒนา Content ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดให้มีผู้ติดตาม นอกจากนี้ ภายใต้ภาวะที่กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวมีจำกัด ผู้ประกอบการอาจจะจัดทำแพคเกจท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางด้านราคา เพื่อเจาะกลุ่มที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวแต่มีงบประมาณจำกัดอย่างแพคเกจพิเศษสำหรับครอบครัว ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นช่วงปิดภาคการศึกษา และมีวันหยุดยาว เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะเจาะกลุ่มตลาดดังกล่าว จุดหมายมีการปรับเปลี่ยนได้ นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักระดับกลาง-บน ก็อาจจะต้องมีการจัดแพคเกจที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยระดับบนที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศทดแทนการเดินทางไปต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงต้องให้ความสำคัญในการดูแลและเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 พร้อมทั้งมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกลับลูกค้าในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวควรจะมีระบบการสื่อสารให้ลูกค้าที่ใช้บริการและที่จะมาใช้บริการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดข่าวลือและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สำหรับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างยังนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวธรรมชาติ อย่างเช่น ภูเขา โดยจังหวัดที่นิยมมากที่สุด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี และน่าน ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลนิยมเดินทางไป ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต เป็นต้น อย่างไรก็ดี จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอาจมีการปรับเปลี่ยนตามปัจจัยแวดล้อมอย่างเรื่องโควิด-19 และการชุมนุม ปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามแม้ข้อมูลที่ได้รับจากผลสำรวจจะพบ ว่า จำนวนคนที่คาดว่าจะเดินทางเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,700 บาทต่อทริป ซึ่งลดลงประมาณ 5.5% เมื่อเทียบกับผลสำรวจจากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยค่าใช้จ่ายที่ลดลง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝาก ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมา 2 ปี เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจขายสินค้าของที่ระลึกและของฝาก ปรับมาทำตลาดออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ปรับลดลงเช่นกันอย่างค่าใช้จ่ายการเข้าสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ โรงแรมและที่พัก ซึ่งเป็นผลจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่รัฐบาลสนับสนุนค่าที่พัก 40% สูงสุด 3,000 บาทต่อคืนต่อห้อง นอกจากนี้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ลงมาทำราคาที่จูงใจเพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยว ทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งปรับไปเลือกใช้บริการกลุ่มโรงแรมดังกล่าว นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในอาหารและเครื่องดื่มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวเพื่ออาหาร หรือ Gastronomy Tourism โดยจะนิยมไปยังร้านอาหารพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของเมืองท่องเที่ยวนั้นๆ และยังนิยมเดินทางไปยังร้านที่มีการตกแต่งสวยงามที่มีชื่อเสียงตามที่มีการรีวิวหรือแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การใช้จ่ายในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น