สำหรับภาพรวมของธุรกิจในปี 2563 ของบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นั้นทาง นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ ได้สะท้อนแผนการดำเนินงานได้อย่างน่าฟัง ภาพรวมธุรกิจของอิมแพ็ค โดย นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า หลังโควิด-19 ระบาด ภาพรวมธุรกิจของอิมแพ็คในปัจจุบัน สำหรับตลาดเอ็กซิบิชั่น มีงานกลับมาประมาณ 80-90% เป็นงานใหม่ๆ ของภาครัฐ ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หรือเกษตรกรจัดงานเพิ่ม เช่น งานโอทอป แต่ที่ยังขาดหายไปเป็นลูกค้าตลาดจัดเลี้ยงหรือเคเทอริ่ง และเทรดเอ็กซิบิชั่นจากต่างประเทศ “ยอมรับว่าปีนี้ต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เพื่อรับมือกับปัญหาโดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ทั้งยังคงมีต่อเนื่องถึงปีหน้าทำให้ยอดจองพื้นที่จัดงานปี 2563 มีเพียง 608 งาน ซึ่งลดลงไปมากถึง 41% หรือหายไปประมาณ 417 งาน จากปีที่แล้วมีมากถึง 1,025 งาน แบ่งสัดส่วนเป็นประเภทของงานคือ ประชุม/สัมมนา 244 งาน เอ็กซิบิชั่นภาคเอกชน 54 งาน เอ็กซิบิชั่น ภาครัฐ 3 งาน ปาร์ตี้ 46 งาน งานแต่งงาน 58 งาน คอนเสิร์ตและแฟมิลีโชว์ 16 งาน รวมถึงจัดเลี้ยง ภายนอกอิมแพ็ค 124 งาน" สัดส่วนงานมีทั้งรัฐ-เอกชน ซึ่ง นายพอลล์ กล่าวต่อว่า สัดส่วนงานของภาครัฐในปี 2563 มี 196 งาน ภาคเอกชนมี 412 งาน คอนเสิร์ตไทย 10 งานและคอนเสิร์ตต่างประเทศ 6 งาน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนงานในปี 2563 กับปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกันจะลดลงมากถึง 41% หรือ หายไป 417 งาน โดยงานประเภท อินเซนทีฟ ยกเลิกการจัดงานทั้งหมด ส่วนงานเอ็กซิบิชันบางงานก็ยังสามารถจัดได้ แต่ก็มีการลดขนาดงานลงเช่น งานไทยเฟ็กซ์ ส่วนประเด็นการเปรียบเทียบปี 2562 กับปี 2563 ยอดการจัดงานจากลูกค้าในและต่างประเทศ แตกต่างกัน ปี 2563 มีงานจาก ต่างประเทศ 3% งานของไทย 97% แต่ปี 2562 มีงานต่างประเทศ 10% และงานของไทย 90% ในส่วนของผลประกอบการ รอบปีงบประมาณ 2563 (วันที่ 1 เมษายน 2562-วันที่ 31 มีนาคม 2563) จาก อิมแพ็ค โกรท รีท พบว่า มี รายได้จากการลงทุนรวม 2,294 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 1,073 ล้านบาท มีพื้นที่ฮอลล์ 122,165 ตารางเมตร อัตราการใช้พื้นที่เฉลี่ย 46% อย่างไรก็ตาม ยอดจองพื้นที่ในปีหน้า คือ ปี 2564 ขณะนี้มีจำนวนมากพอสมควร ทั้งที่เป็นงานเก่าที่เลื่อนไปจากปีนี้และงานที่เกิดใหม่ โดยรวมมี 340 งาน แยกเป็น ประชุมสัมมนา 107 งาน เอ็กซ์ซิบิชัน ภาคเอกชน 76 งานเอ็กซ์ซิบิชั่น ภาครัฐ 14 งาน ปาร์ตี้ 24 งาน งานแต่งงาน 41 งาน คอนเสิร์ต 51 งาน และอื่นๆ 27 งาน ซึ่งงานใหญ่ๆ เด่นๆ จัดปี 2564 เช่น วิฟ เอเชีย งานโยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น วันที่ 12-17 มกราคม งานโตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น 2020 วันที่ 19-24 มกราคม และ เอชเอสบีซี บีดับเบิ้ลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอล 2020 วันที่ 27-31 มกราคม 2564 ทั้งนี้ นายพอลล์ ยังกล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของอิมแพ็ค ในปี 2564 ว่า รายได้หลักของ อิมแพ็ค ยังเป็นการเช่าพื้นที่จัดงาน 80% อื่นๆ ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร และลีเชอร์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จะยังเป็นรายได้เสริมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการเปิดร้านอาหารเพิ่มทั้งในและนอกพื้นที่เมืองทองธานี รวมถึงบริการเคเทอริ่งที่มีตอบโจทย์ลูกค้าทั้งระดับกลางและไฮเอนด์ด้วย เป้าหมายของธุรกิจอิมแพ็ค ขณะที่เป้าหมายธุรกิจอิมแพ็ค ใน ปี 2564 นั้น นายพอลล์ กล่าวว่า ทาง อิมแพ็ค และบางกอกแลนด์ (บริษัทแม่) ได้วางแผนการลงทุนเรื่องหลักๆ ในช่วง 3 ปีจากนี้ ได้แก่ 1.ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู หวังว่าทางรัฐบาลจะได้ข้อสรุปอนุมัติเรียบร้อย ให้ทางบีทีเอสเข้ามาลงทุนร่วม 2 สถานี ติดกับชาเลนเจอร์ และทะเลสาบ โดยการลงทุนของบีแลนด์บริษัทแม่ มูลค่า 1250 ล้าน 2.เป็นการลงทุนต่อเนื่อง รถไฟฟ้าสายสีชมพู ทโดยอิมแพ็ค โกรท รีท สร้างล็อบบี้ และสะพานเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าชาเลนเจอร์ 1 รองรับผู้เข้าชมงาน มูลค่าราว 200 ล้านบาท 3.การก่อตั้งสถาบันสอนทำอาหาร ภายใต้แบรนด์เลอโนท ซึ่งเป็นเชนของฝรั่งเศส พร้อมสร้างโรงแรมที่พักเป็นแห่งที่สามของอิมแพ็ค เพื่อรองรับนักเรียนจากนานาชาติที่เดินทางมาเรียน เช่น จีน เกาหลี และประเทศในภูมิภาคเอเชียใกล้ๆ โดยใช้การรีโนเวตอาคารโรงแรมอีสตินเดิม ที่อยู่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี มูลค่าลงทุนรวม 1000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ในพื้นที่ทะเลสาบที่จะเป็นสถานีรถไฟฟ้า บิ๊กเลคยังมีพื้นที่ว่างรอการพัฒนากว่า 300 ไร่ โดยจะมีการลงทุนต่อไป เช่น ช้อปปิ้งมอล์ หรือ ไมซ์ เอ็กซิบิชั่น ซึ่งจะต้องหานักลงทุน พันธมิตรคู่ค้า อาจจะเป็นรีเทลรายใหญ่ๆ มาลงทุนไม่ใช่แบบที่ทำเองปัจจุบัน ส่วนแผนสวนน้ำ สวนสนุก คือจากเดิมจะร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศแต่ได้ยกเลิกไป แล้ว แต่ยังคงคอนเซ็ปต์การพัฒนาธุรกิจในลักษณะ ไมซ์ ทัวริส แอทแทรกชั่น แต่ในเวลานี้ได้ชะลอโครงการอย่างไม่มีกำหนด โดยในปีหน้า เป็นปีแห่งความท้าทาย เนื่องจากเป็นเรื่องการฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่ง นายพอลล์ กล่าวว่า ในภาพรวมของธุรกิจไมซ์ยังคงไปได้ มีการปรับตัวตามสถานการณ์ในส่วนของการจัดประชุม สัมมนา ที่เป็นไฮบริด มีตติ้ง แต่ตลาดเอ็กซิชั่นออนไลน์ ยังไม่ได้รับความนิยม ด้วยลูกค้ายังอยากที่จะสัมผัสกับสินค้าจริงอยู่ ตลาดต่างประเทศกลับมาใกล้เคียงปี 25 62 (ก่อนโควิด) อย่างไรต้องต้องติดตามปัจจัยเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จะมีผลให้การเดินทางติดต่อธุรกิจเป็นไปตามปกติ ในปี 2564 ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรก ชาวต่างประเทศยังคงเดินทางไม่ได้ แต่คาดหวังว่าสถานการณ์น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยตั้งเป้าปี 2565 ธุรกิจน่าจะกลับมาเติบโตได้ 10% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19