ปรากฏการณ์ที่เกิดไม่บ่อย หากพลาดเมื่อคืนนี้ ยังตามชมกันได้ถึง 23 ธ.ค. และอีก 60 ปีข้างหน้า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี” ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หัวค่ำวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ตั้งแต่อาทิตย์ตกถึงประมาณ 19:30 น. มองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า เห็นชัดพร้อมกันทั้งสองดวงและดวงจันทร์บริวาร เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หลังจากนี้ยังติดตามชมได้จนถึงวันที่ 23 ธันวาคม ก่อนจะห่างออกจากกันเรื่อย และจะกลับมาปรากฏใกล้กันเช่นนี้ในอีก 60 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ได้บันทึกภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม เป็นต้นมา เห็นได้ชัดเจนว่า ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ปรากฏเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในภาพยังสังเกตเห็นดาวดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ทั้งสองอีกด้วย ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ที่ปรากฏ ได้แก่ ไททัน รีอา ทีทีส และไดโอนี ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต