กรมศิลป์เชิญชวนผู้ชื่นชอบเที่ยวโบราณสถานมรดกโลกเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเที่ยวด้วยเทคโนโลยี AR และ VR กรมศิลปากรเปิดตัวผลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม AR Smart Heritage กันไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วที่วัดราชบูรณะ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมได้มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้บริการข้อมูลความรู้ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้นำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) มาใช้ในการนำเสนอข้อมูลมรดกวัฒนธรรม เพื่อสร้างความน่าสนใจ โดย AR Smart Heritage นี้ จะเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่สำหรับผู้เที่ยวชมโบราณสถาน ให้สามารถเห็นรูปแบบสันนิษฐานที่ปรากฏซ้อนทับลงบนโบราณสถานจริงโดยผ่านเทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality ซึ่งผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม เพื่อให้ผู้เข้าชมได้จินตนาการเห็นถึงความรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ของเมืองมรดกโลก ณ โบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จำนวน 11 แห่ง รวมถึงวัดราชบูรณะ และอุทยานประวัติศาสตร์ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จำนวน 10 แห่ง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จำนวน 9 แห่ง และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จำนวน 6 แห่ง นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังได้พัฒนาระบบนำชมโบราณสถานที่เป็นแหล่งเข้าถึงยากและไม่เปิดให้เข้าชม เนื่องจากการอนุรักษ์ ถือเป็น Unseen Heritage ด้วยระบบ Virtual Reality ผ่านกล้อง VR จำนวน 2 แห่ง คือ กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และอุโมงค์วัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งจะช่วยให้สามารถรับรู้บรรยากาศเสมือนได้เข้าชมจริง นับเป็นก้าวสำคัญของกรมศิลปากร ในการให้บริการชมโบราณสถานรูปแบบใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงง่าย ส่งเสริม เพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้แหล่งโบราณสถาน กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความสนใจในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น