ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า... โควิด 19 ความรู้การตรวจวินิจฉัย เราได้ยินเสมอคำว่า PCR และ Ct เพื่อเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้อง จะเป็นประโยชน์กับการศึกษาไทย 1การตรวจวินิจฉัยที่ไวที่สุด และเป็นที่ยอมรับทั่วโลกคือ การตรวจหา RNA ของตัวไวรัส 2 RNA ไวรัส ไม่สามารถทำ PCR ได้ PCR หรือปฏิกิริยาลูกโซ่ Polymerase Chain Reaction ทำได้เฉพาะ DNA ดังนั้นไวรัสนี้เป็น RNA จึงต้องถูกเปลี่ยนกลับเป็น DNA ก่อน การเปลี่ยนกลับต้องใช้ enzyme Reverse Transcriptase กระบวนการตรวจ RNA จึงเรียกว่า RT-PCR ไม่ใช่ PCR ที่พูดกันทั้งหลายจึงไม่ถูกต้อง 3 การทำ PCR เป็นการเพิ่มจำนวนไวรัส แบบทวีคูณ จาก 1 เป็น 2 จาก2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ในแต่ละรอบจะเพิ่มเป็นทวีคูณไปเรื่อยๆ 4 เราได้ยินคำว่า Ct ย่อมาจาก Cycle Threshold ไม่ใช่ Cycle Time, Ct ก็คือจำนวนรอบในการเพิ่มปริมาณ DNA 5 ปริมาณ DNA ที่น้อย ต้องใช้จำนวนรอบมาก จึงจะตรวจพบ ปริมาณ DNA ที่มากใช้เพียงไม่กี่รอบก็เพิ่มจำนวนแล้วตรวจพบแล้ว ดังนั้น ถ้า Ct ที่ต่ำ จะมีปริมาณไวรัสสูง Ct ที่สูงจะมีปริมาณไวรัสต่ำ โดยทั่วไปการให้ผลเป็นบวกและลบ จะตัดที่จำนวนรอบระหว่าง 38-40 ดังนั้นผู้ป่วยที่วัดค่า Ct ได้ 9 ก็แสดงว่ามีปริมาณไวรัสจำนวนมากมาย ผู้ป่วยที่วัดค่า Ct ได้ 35 ก็แสดงว่ามีปริมาณไวรัสน้อยมาก 6 การทำการตรวจ PCR ในปัจจุบันดูจำนวนรอบได้แบบ real time ไม่ต้องไปดูผลตอนสิ้นสุดการตรวจ วิธีการตรวจเราจึงเรียกว่า Real time PCR แต่ถ้าเป็นการตรวจ โควิด 19 ที่ เป็น RNA ไวรัส ต้องเรียกว่า real time RT-PCR ดังนั้น RT ที่ต่อกับ PCR ย่อมาจาก reverse transcriptase คือการเปลี่ยนจาก RNA ให้เป็น DNA นั่นเอง จึงจะทำ PCR ได้ และการตรวจด้วยวิธี real time สำหรับนักเรียนหรือผู้ที่สนใจ เวลาอ่านในข่าว หรือมีการพูดถึงกัน หรือส่งต่อจะได้เข้าใจว่า โควิด 19 ไม่สามารถทำ PCR ได้ แต่สามารถทำ RT-PCR ในการตรวจ จะได้ไม่ปล่อยไก่