สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ คณาจารย์โบราณมักนิยมสร้างพระประเภทหนึ่งซึ่งมีพุทธคุณลือเลื่อง และมีศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียกกันว่า “พระนาคปรกใบมะขาม” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ปรกใบมะขาม” เนื่องจากรูปพระพุทธนั้นเป็นพระนาคปรก ส่วนองค์พระมีขนาดรูปทรงเหมือนใบมะขามหวาน มีขนาดใหญ่กว่าใบมะขามจริง แต่ก็ยังถือว่าเล็กมากอยู่ดี ในบรรดา ‘พระปรกใบมะขาม’ ที่ขึ้นชื่อลือเลื่องนิยมกันแพร่หลายนั้น ได้แก่ พระปรกใบมะขาม เนื้อเมฆพัด หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พระนาคปรก หลวงปู่ศุข - พระปรกใบมะขาม วัดท้ายตลาด ของ พระสนิทสมณคุณ สร้างในปี พ.ศ.2456 ถือเป็นพระยอดนิยมอันดับหนึ่ง มีทั้ง เนื้อทองคำ เงิน และทองแดง ของปลอมจะใช้วิธีหล่อหรือเหวี่ยง เนื้อโลหะจึงขรุขระ แม่พิมพ์ของเนื้อทองคำกับเนื้อทองแดงจะเป็นบล็อกเดียวกัน ของแท้เป็นพระปั๊มเนื้อจะตึงไม่มีรอยปรุพรุน - พระปรกใบมะขาม วัดกัลยาณมิตร สร้างโดย พระสุนทรสมาจาร เรียกกันในวงการว่า ‘ปรกวัดกัลยา’ สร้างราวปี พ.ศ 2474-2476 เพื่อหารายได้สร้างระฆังขนาดใหญ่ของทางวัด - พระปรกใบมะขาม หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท พระชุดนี้สร้างโดยวัดอนงคาราม ธนบุรี ในปี พ.ศ.2463 แต่เนื่องจากปลุกเสกและมีหลวงปู่ศุขเป็นเจ้าพิธี จึงเรียกกันว่า ‘ปรกหลวงปู่ศุข’ มีพระเกจิอาจารย์หลายท่านร่วมปลุกเสก อาทิ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม เป็นต้น - พระปรกใบมะขาม วัดอนงคาราม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ซึ่งมีการสร้างหลายคราว ปรากฏทั้งเป็นนาคสองชั้น และนาคสามชั้น บางบล็อคมีรอยแตกของแม่พิมพ์แล่นกลางองค์ในแนวยาว กลายเป็นพิมพ์นิยมบล็อคแตกนาค 3 ชั้น - พระปรกใบมะขาม เนื้อเมฆพัด หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ จ.สมุทรสงคราม เนื้อเป็นโลหะพิเศษสีดำมันวาว เรียก ‘เมฆพัด’ มีการสร้าง 2 คราว คือ ก่อนปี พ.ศ.2500 และหลังปี พ.ศ.2500 พระนาคปรก หลวงปู่ศุข พระนาคปรก วัดกัลยาณมิตร นอกจากนี้ยังมี ‘ปรกใบมะขาม’ ที่สร้างโดยเกจิคณาจารย์อื่น ๆ และได้รับความนิยมแพร่หลาย เช่น พระปรกใบมะขาม ของ ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส, ปรกใบมะขามหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่, พระปรกใบมะขามหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หรือ พระปรกใบมะขามหลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง ซึ่งทั้งหมดมักได้รับความนิยมอาราธนาขึ้นคอเป็นชุดๆ เพราะเชื่อในพุทธคุณแห่งรูปพระนาคปรกที่คอยคุ้มกันอันตราย และยังจัดสร้างโดยคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณซึ่งมักจะจารอักขระเลขยันต์ตามตำรับของท่าน โดยแต่ละสำนักก็จะมีวิธีการสังเกตแตกต่างกันไป ผู้นิยมสะสมพระควรแสวงหา ‘พระนาคปรกใบมะขาม’ เก็บไว้บูชาบ้าง ก็จะยอดเยี่ยมทีเดียวเชียวครับผม พระนาคปรก วัดท้ายตลาด พระปรกใบมะขาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม