ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอาจจะดูสูงเกียรติ แต่ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ปลายปี 2531 หลังจบการอบรมการเป็นข้าราชการใหม่ ผู้ที่ผ่านการอบรมก็แยกย้ายกันไปทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ ในหน่วยงานของแต่ละคน ทั้งนี้ข้าราชการในมหาวิทยาลัยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ สาย ก. ทำหน้าที่สอนและงานวิชาการ ได้แก่ คณาจารย์ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ตอนนั้นมีอยู่ 10 สาขาวิชา (ปัจจุบัน มสธ.มี 12 สาขาวิชา ) ซึ่งที่ มสธ.จะมีอยู่ประมาณ 400 คนเศษ สาย ข. ทำหน้าที่สนับสนุนงานวิชาการ เช่น สำนักทะเบียนและวัดผล สำนักเทคโนโลยีการศึกษา และสำนักบริการการศึกษา เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ 800 คนเศษ และสาย ค. ทำหน้าที่ให้บริการและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอีก 2 สายก่อนนี้ เป็นต้นว่า งานยานพาหนะ งานรักษาความปลอดภัย และงานอาคารสถานที่ ซึ่งมีบุคลากรประมาณ 500 คน มหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราชใช้ระบบการศึกษาแบบเปิด คือไม่จำกัดการรับเข้าและไม่มีชั้นเรียน สอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ซึ่งในสมัยนั้นใช้ไปรษณีย์ส่งหนังสือให้ไปอ่านที่บ้าน มีรายการวิทยุและรายการโทรทัศน์เสริมให้เป็นบางวิชา รวมทั้งมีการให้อาจารย์ออกไปสอนให้แก่นักศึกษาในวิชาแกนที่สำคัญ ๆ ในจังหวัดใหญ่ ๆ หรือจังหวัดที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมาก ๆ เรียกว่า “การสอนเสริม” มีเทปเสียงประกอบการเรียนเพิ่มเติมให้ในหลาย ๆ ชุดวิชา และมีศูนย์บริการศึกษาที่คอยช่วยเหลือนักศึกษาอยู่ในทุกจังหวัด ก็คือที่โรงเรียนประจำจังหวัดทุกจังหวัดเหล่านั้น การเรียนนักศึกษาต้องช่วยตัวเองอย่างมาก ต้องอาศัยความอดทนและความมุ่งมั่น หลายคนสามารถจบได้ในระยะเวลาที่กำหนด แต่ก็มีจำนวนมากที่จบช้า และหลายคนก็ถอดใจเลิกเรียนกลางคัน ทั้งนี้ก็เป็นไปตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “เปิดโอกาสทางการศึกษา” จึงเหมาะกับคนที่ไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในระบบปิดทั่วไป และคนที่ต้องการปรับวุฒิเพื่อเปลี่ยนงาน เลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง หรืออยากมีความรู้เพิ่มเติม พี่จิ๊บหรืออาจารย์พรพิมลในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและวัดผลต้องทำงานหนักมาก เพราะถือเป็น “หน้าด่าน” และ “ประตูสุดท้าย” ของการศึกษาที่ มสธ.นี้ หน่วยงานนี้มีหน้าที่ในการรับนักศึกษาเข้ามาเรียน จัดระบบการเรียน ประสานงานการจัดสอบ วัดผลการศึกษา และแจ้งผลการจบการศึกษาแก่นักศึกษา เป็นหน่วยงานที่ “ไฮเทค” ที่สุดของ มสธ. เพราะต้องดูแลคอมพิวเตอร์ทั้งระบบของมหาวิทยาลัย สมัยก่อนนั้นมีนักศึกษาเข้าใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 7-8 หมื่นคน เมื่อรวมนักศึกษาที่ยังไม่จบและยังอยู่ในระบบก็หลายแสนคน การทำงานในกระบวนการทั้งหมดนั้นต้องใช้การประมวลข้อมูลอันมหาศาลในเวลาที่กำหนดไว้ ต้องใช้ทั้งความละเอียดถี่ถ้วน ความเที่ยงตรงแม่นยำ และความฉับไวทันเวลา ที่สำคัญที่สุดก็คือการรักษาระบบให้ปลอดภัย ไม่ให้มีการใส่ข้อมูลที่บกพร่องหรือการประมวลผลที่ผิดพลาด ด้วยความสุจริตและรับผิดชอบอย่างสูง พี่จิ๊บต้องดูแลเจ้าหน้าที่กว่า 300 คน ถือว่าเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดใน มสธ. แต่กระนั้นพี่จิ๊บก็ยังมีเวลาว่างพอที่จะคิด “ทำการใหญ่” ซึ่งก็คือการ “พลิกโฉม มสธ.” ตระกูลของพี่จิ๊บสืบทอดมาจากตระกูลขุนนางใหญ่ตั้งแต่ยุคสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ต้นตระกูลเคยเป็นแม่ทัพใหญ่รบศึกพม่าและเขมรมาอย่างตรากตรำ มีเกียรติประวัติบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ดังนั้นคนในครอบครัวนี้ส่วนใหญ่ก็จะรับราชการมาโดยตลอดแทบทุกคน ถ้าเป็นผู้ชายก็มักจะเป็นทหารหรือเป็นข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ส่วนผู้หญิงก็ทำงานในส่วนราชการตามแขนงการศึกษาที่จบมา อย่างพี่จิ๊บนี้จบการศึกษาด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นได้เข้าทำงานที่กระทรวงมหาดไทย ก่อนที่จะย้ายโอนมาเป็นอาจารย์ที่ มสธ. ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในช่วงปี 2523 - 2524 โดยสอนในสาขาวิชาวิทยาการจัดการ ที่มีนักศึกษามากที่สุดในมหาวิทยาลัย รวมถึงมีจำนวนอาจารย์มากที่สุดด้วย นอกการเขียนตำราหรือเอกสารการสอนอันเป็นงานหลักแล้ว ด้วยความที่เป็นคนมากความสามารถพี่จิ๊บจึงต้องมาช่วยทำงานเพื่อวางระบบให้แก่สำนักทะเบียนและวัดผลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนี้ด้วย ผมมาสนิทสนมกับพี่จิ๊บครั้งแรกก็ในปลายปี 2531 นั้นเอง ในการอบรมนักศึกษาที่ใกล้จะจบการศึกษา ที่เรียกว่า “การอบรมประสบการณ์วิชาชีพ” อันเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้เป็น “กิจกรรมที่จำเป็น” ของนักศึกษาที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทุกคน เนื่องจากนักศึกษา มสธ.ไม่มีชั้นเรียนตามปกติ จะพบกันบ้างก็ตอนที่ไปรับการปฐมนิเทศในเทอมแรก ซึ่งก็ไม่ได้บังคับให้ทุกคนว่าจะต้องไปรับการปฐมนิเทศ จากนั้นก็อาจจะเจอกันบ้างในการสอนเสริม ที่ก็ไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องไปเรียนเช่นกัน หรืออาจจะไปพบกันในกิจกรรมของชมรมนักศึกษาในแต่ละจังหวัด ซึ่งก็มีนักศึกษาไปร่วมกันเป็นส่วนน้อย ดังนั้นนักศึกษาของ มสธ.จึงไม่ได้มีความรู้สึก “ผูกพัน” กับเพื่อน ครูอาจารย์ และทางมหาวิทยาลัยมากนัก การจัดอบรมประสบการณ์วิชาชีพจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่จะทำให้นักศึกษาทุกคนมีความรู้สึกผูกพันและซาบซึ้งในการเป็นนักศึกษาของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ การอบรมจะใช้เวลา 5 วัน 4 คืน โดยจะรวมนักศึกษาเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 400 - 500 คน จากผู้ที่จะใกล้จบในทุกสาขาวิชา มากบ้างน้อยบ้างตามจำนวนนักศึกษาของแต่ละสาขาวิชานั้น ปีหนึ่ง ๆ จะมีการอบรมหลายสิบครั้ง เพราะจะมีนักศึกษาที่จะจบปีละนับหมื่นคน การอบรมจะกระจายกันไปในแต่ละภูมิภาค บางแห่งก็ใช้โรงแรม บางแห่งก็ใช้ศูนย์อบรมสัมมนาของทางราชการ โดยในกรุงเทพฯและภาคกลางจะใช้ที่ศูนย์ฝึกอบรม ของสถานสงเคราะห์สภากาชาดไทย ที่สวางคนิวาส ตำบลบางปู อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ (ตอนนั้นศูนย์อบรมสัมมนาในมหาวิทยาลัยที่ปากเกร็ดกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง และตั้งแต่ปีการศึกษษ 2532 ก็ได้ให้นักศึกษาที่ใกล้จะจบการศึกษามาอบรมประสบการณ์วิชาชีพที่อาคารสัมมนานี้ทั้งหมด) โดยนักศึกษาจากสาขาวิชาวิทยาการจัดการจะมีจำนวนมากที่สุดเสมอ ในแต่ละครั้งจึงต้องใช้อาจารย์จำนวนมาก และในครั้งนั้นพี่จิ๊บก็มาเป็นวิทยากรประจำกลุ่มด้วย ผมเป็นหนึ่งในอาจารย์ใหม่ที่ต้องไปสังเกตการณ์การอบรม โดยแต่ละสาขาวิชาจะให้อาจารย์ใหม่แต่ละคนไปร่วมในกิจกรรมทุกกิจกรรมในการอบรม เพื่อในคราวต่อไปเมื่อเป็นตัวจริงต้องไปปฏิบัติหน้าที่เป็นวิทยากรอย่างเต็มตัวแล้ว จะได้นำสิ่งที่ได้จากการไปเฝ้าสังเกตติดตามนั้นมาปฏิบัติให้เป็นไปในระบบของ มสธ. ต่อไป โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์กับนักศึกษา ให้มีความรู้สึกผูกพันและประทับใจในการเป็นนักศึกษาและว่าที่บัณฑิต มสธ. การอบรมจึงเน้นกิจกรรมแบบนันทนาการเป็นหลัก ร่วมกับกิจกรรมทางวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง แต่เป็นไปในรูปแบบของการทบทวน “หลอมรวม” สิ่งที่ได้เรียนมา แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 5 วัน 4 คืนที่สวางคนิวาสทำให้ผมได้รู้จักพี่จิ๊บอย่างลึกซึ้ง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “ทีมจิ๊บ” มาตั้งแต่บัดนั้น