นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เผยว่า ทช.มีถนนในความรับผิดชอบที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 153 แห่ง ซึ่งปัจจุบันปริมาณการจราจรบนถนนดังกล่าวมีจำนวนสูงขึ้น ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกับยานพาหนะบ่อยครั้ง ประกอบกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีโครงการรถไฟทางคู่เพื่อพัฒนาการขนส่งระบบรางตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ทช.จึงมีแผนปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยของ รฟท. ที่ได้กำหนดให้บริเวณจุดตัดผ่านทางรถไฟที่มีปริมาณการจราจรเป็นจำนวนมากจะต้องก่อสร้างเป็นทางต่างระดับในรูปแบบของสะพานหรืออุโมงค์ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุอย่างสมบูรณ์ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการสัญจรบนถนนทางหลวงชนบท ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ทช.จึงได้ก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1019 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 – บ้านปากน้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1 แห่ง ความยาว 280 เมตร ความกว้าง 10 เมตร ก่อสร้างถนนต่อเชื่อมความยาวรวม 870 เมตร ทางกลับรถบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการ 1 แห่ง รวมความยาวประมาณ 631.616 เมตร และสะพานลอยคนเดินข้ามทางรถไฟ พร้อมทางลาดสำหรับคนพิการ 1 แห่ง กว้าง 2.50 เมตรความยาว 73.00 เมตร โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการ กม.ที่ 0+000 บริเวณถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1019แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 มีจุดสิ้นสุดโครงการบนถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1019 กม.ที่ 1+150 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 63 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนของโครงสร้างส่วนบน และถนนต่อเชื่อมคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 113.619 ล้านบาท