นิพนธ์ วิ่งรอกตอบ 3 กระทู้ 1.ปมปัญหาที่ดินลาดชันเกิน 35 องศา บนเกาะสมุย ย้ำ จัดการเด็ดขาดกับจนท. หากออกเอกสารโดยมิชอบ 2.เร่งแก้ไขความล่าช้า ปมที่ดินสาธารณะทับซ้อนที่ชาวบ้าน อ.จอมทอง เชียงใหม่ 3.เร่งรัดออกระเบียบรับรองคกก.ชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ย้ำ อย่างน้อยต้องให้มีเบี้ยประชุมและค่าเดินทางได้
นิพนธ์ฯ ตอบกระทู้แยกเฉพาะ ปมโรงแรม รีสอร์ท สร้างในพื้นที่ลาดชันสูงเกิน 35 องศา ย้ำยึดมติ ครม.3 ธ.ค. 28 ถ้าถือครอง มีเอกสารสิทธิ์ก่อน ใช้พื้นที่ได้ แต่ถ้าออกเอกสาร โดยมิชอบ ต้องเพิกถอนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน พ่วงเอาผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 22
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่รัฐสภา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้แยกเฉพาะถึงการตรวจสอบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินกรณีโรงแรม รีสอร์ท ที่สร้างบนเกาะหรือภูเขา ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายป่าไม้แห่งชาติ โดยเฉพาะกรณีพื้นที่มีความลาดชันเกิน 35 องศาขึ้นไป ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี อำเภอเกาะสมุย มีโรงแรม รีสอร์ทต่าง ๆ ที่ปลูกสร้างอาคารบนเกาะ หรือบนภูเขาสูง ที่มีความลาดชันสูงเกิน 35 องศา ประชาชนต่างสงสัยว่า เหตุใดบรรดาโรงแรม รีสอร์ทต่าง ๆ ที่ก่อสร้างบนพื้นที่ดังกล่าวได้ และมีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่ อย่างไร
นายนิพนธ์ ชี้แจงว่า การออกโฉนดที่ดินในที่ดินซึ่งเป็น ที่เขา ที่ภูเขา ซึ่งเป็นที่ต้องห้ามมิให้ออกโฉนด และยังเป็นพื้นที่ที่กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศหวงห้ามลงวันที่ 27 มีนาคม 2499 บุคคลใดเข้ายึดถือครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้มีการตรวจสอบตั้งแต่ในชั้นกระบวนการก่อนที่จะออกโฉนดที่ดินสอบแล้วว่า ผู้ขอได้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายตามเงื่อนไขที่กฎหมายก่อนการกระทรวงมหาดไทยจะมีประกาศ ลงวันที่ 27 มีนาคม 2499 ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกโฉนดที่ดิน(น.ส.3)ให้ได้ ในส่วนของการสร้างอาคารทั้งโรงแรม รีสอร์ตในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินสูง 35 องศาขึ้นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 เห็นชอบกับคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติให้ถือว่าเป็นป่าไม้ เป็นพื้นที่ต้องห้ามออกโฉนดที่ดินพื้นที่ดังกล่าว หากมีการครอบครองในที่ดินแปลงนั้นๆมาก่อนมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถออกโฉนดที่ดิน(น.ส.3)ได้ แต่หากปรากฏในภายหลังว่า มีการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมที่ดินจะดำเนินการตรวจสอบและจะดำเนินการเพิกถอนแก้ไขโฉนดที่ดินนั้น และดำเนินการทางวินัยและอาญากับเจ้าหน้าที่ผู้ที่กระทำความผิด ทั้งนี้ หากพื้นที่ที่อนุญาตให้ก่อสร้างมีโฉนดที่ดิน (น.ส.3) มีการตรวจสอบแล้วว่า ออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและได้ถูกเพิกถอนไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน หรือมีการก่อสร้างในพื้นที่ที่ไม่มีโฉนดที่ดิน จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ต่อไป
นิพนธ์ แจงกรณีออกเอกสารสิทธิ “หนังสือสำคัญที่หลวง” แปลงที่ดินสาธารณประโยชน์หนองหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ยันได้ออกเอกสารแล้ว แต่ถูกร้องเรียนฯ สั่งการผู้ว่าฯจนท.ที่ดินจ.เชียงใหม่ประชุม-ลงพื้นที่ตรวจสอบ29 ธ.ค.นี้ อีกครั้ง
จากนั้น นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะของ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส พรรคภูมิใจไทย จังหวัดเชียงใหม่ ถึงปัญหาความล่าช้าในการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนที่สาธารณประโยชน์หนองหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยมากว่า 30 ปี ไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง
โดยนายนิพนธ์ กล่าวชี้แจงว่า ที่สาธารณประโยชน์ แปลงหนองหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้นำขึ้นทะเบียนที่สาธารณประโยชน์เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีเนื้อที่ 43 ไร่ และได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแล้ว แต่ต่อมาไม่สามารถออกหนังสือสำคัญที่หลวงได้เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวยังไม่ครบถ้วน ทางอำเภอจอมทองจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเขตที่สาธารณประโยชน์หนองหลวงเพื่อขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่เหลือ ปรากฏว่าคณะกรรมการไม่สามารถชี้แนวเขตหนองหลวงได้ เนื่องจากสภาพที่ดินเปลี่ยนแปลงไป กรณีนี้ต้องมีการวินิจฉัยว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ ซึ่งในการดำเนินการ ถ้าจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเป็นอำนาจของนายอำเภอท้องที่ ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ลักษณะปกครองท้องที่ โดยปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งที่ 829/2563 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2563 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีอาณาเขตของพื้นที่สาธารณประโยชน์หนองหลวงส่วนที่นอกเหนือจากที่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ดินเลข1535 หมู่ที่ 2 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ว่ายังมีเนื้อที่คงเหลือเป็นที่สาธารณประโยชน์อีกหรือไม่ โดยสั่งการให้ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ กำหนดนัดประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 29 ธันวาคม 2563 หากไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง จะได้พิจารณาออกโฉนดที่ดินทั้ง 20 แปลงให้ต่อไป
นิพนธ์ เร่งรัด การออกระเบียบรองรับสถานะกรรมการชุมชนให้เป็นโดยชอบตามกฎหมาย เพื่อให้มีเบี้ยประชุมและค่าเดินทางได้ แจงขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ย้ำให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
ต่อมา ณ ห้องประชุมสุริยัน สัปปายะสภาสถาน(อาคารรัฐสภา) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของของนายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส พรรคเพื่อไทย จังหวัดเลย ถึงปัญหาค่าตอบแทนคณะกรรมการชุมชนในเขตเทศบาลทั่วประเทศ เนื่องจากคณะกรรมการชุมชนทำหน้าที่ช่วยเทศบาลกำกับดูแลชุมชนย่อยในพื้นที่เป็นตัวแทนชุมชนทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดูแลทุกข์สุขในเขตหมู่บ้านเช่นเดียวกับ อสม. และ อปพร. ซึ่งผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวมีค่าตอบแทนแต่คณะกรรมการชุมชนกลับไม่ได้รับ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมหาดไทยได้เคยส่งหนังสือตอบกลับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.) ที่เรียกร้องเรื่องดังกล่าวว่ามีการร่างประมวลกฎหมายรองรับการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ขณะนี้กลับยังไม่มีความคืบหน้า
นายนิพนธ์ ชี้แจงว่ากระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นและให้ความสำคัญอย่างมากของการดูแลกรรมการชุมชนในการทำหน้าที่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามอนุมัติให้มีการยกร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ. .... แล้วตั้งแต่เมื่อ 30 มิ.ย. 63 เพื่อรองรับสถานะของคณะกรรมการขุมชน เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของคณะกรรมการร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนม.ค. 64 ขณะเดียวกัน เมื่อมีระเบียบกำหนดสถานะแล้ว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้นำเรื่องค่าตอบแทนของคณะกรรมการชุมชนบรรจุไว้ในร่างประมวลกฎหมายส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นฐานสำหรับการออกระเบียบดังกล่าว ขณะนี้ร่างประมวลกฎหมายอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาดำเนินการพร้อมย้ำว่าร่างประมวลกฎหมายมีการกำหนดเนื้อหามาตรา 227 เกี่ยวกับการสนับสนุนให้มีคณะกรรมการชุมชนรวมถึงการจ่ายค่าตอบแทนตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด แต่ยอมรับว่าเรื่องค่าตอบแทนกรรมการชุมชนจะต้องใช้งบประมาณราว 600 ล้านบาทต่อปี ทำให้ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำลังทำการบ้านในการพิจารณาว่าจะจัดสรรงบประมาณจากส่วนใด แต่อย่างน้อยจะให้คณะกรรมชุมชนได้รับเบี้ยประชุม และค่าเดินทางได้

