ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย “ใครคือผู้ที่จะทำให้โลกหมิ่นเหม่ต่อการเกิดสงครามโลกครั้งที่3” นี่เป็นคำพูดของหัวหน้าคณะเสนาธิการของกลาโหมอังกฤษ Nick Carter อ้างถึงปากคำของเขาที่กล่าวว่า ความขัดแย้งในหลายๆภูมิภาคในโลก และในประชาคมโลก มีการประเมินที่ผิดพลาดต่อความเสี่ยงในสถานการณ์ที่ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจของผู้นำต่างๆบางครั้งก็เกิดจากความไม่เข้าใจผลลัพธ์ของการกระทำ ซึ่งได้เพิ่มความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในโลกจากการตรวจสอบเหตุการณ์ในหลายพื้นที่ พบว่ามีการใช้อาวุธที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการใช้เครือข่ายอิเลคโทรนิคในการทำลายล้าง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าเป็นความยากลำบากที่จะหยุดยั้งสถานการณ์อันจะนำไปสู่การทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบ นิกค์ คาร์เตอร์ ไม่ได้เป็นแค่นายพลธรรมดา แต่เขาเป็นถึงที่ปรึกษาหลักของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาพูดจึงไม่ใช่เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่นักวิจารณ์หรือนักวิเคราะห์ข่าวทั่วไปในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะพูดกันเป็นพื้น ถ้าจะถามว่าสิ่งที่เขาพูดมันมีความถูกต้องน่าเชื่อถือหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าในมุมมองที่ตรงไปตรงมาก็ต้องบอกว่าใช่เลย สงครามโลกครั้งที่สามกำลังดำเนินไปในวิถีของมัน แต่ยังไม่ใช่สงครามที่ปะทะกันด้วยอาวุธโดยตรง แต่เป็นสงครามของการต่อสู้กันทางความคิด ซึ่งจะกลายเป็นสงครามที่ใช้อาวุธในที่สุด แนวคิดของพวกเสรีนิยมใหม่ที่พยายามปรับรูปแบบของระบบทุนนิยมผูกขาดที่ครอบครองหลายพื้นที่ในโลก ที่เปิดให้นายทุนข้ามชาติและนายทุนผูกขาดได้ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวกำลังได้รับการต่อต้านจากแนวคิดของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ทำให้เกิดวิกฤติของความขัดแย้งภายใน ด้วยเหตุของความขัดแย้งนี้ รัสเซียและพันธมิตร เช่น อิหร่านหรือจีน ที่เป็นระบบสังคมนิยมผสมแนวของทุนนิยม ประเทศในยุโรปตะวันออก รวมทั้งพวกขวาสุดโต่ง อย่างพวกนิยมทรัมป์ ก็ยังต่อต้านแนวคิดของกลุ่มแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่จะเข้าแทรกแซงและบ่อนทำลายประเทศต่างๆ อย่างยูโกสลาเวีย อิรัก ซีเรีย ลิเบีย และยูเครน ในการแสดงเจตนารมณ์ของตน โดยอิสระด้วยการใช้มาตรการแซงก์ซั่นต่อกลุ่มที่ต้องการแยกตัว หรือรัฐอิสระ ประกอบกับการปลุกระดม และการแพร่พิษของความขัดแย้งอันก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตนับล้าน แต่นิกค์ก็คงไม่ได้คิดถึงเรื่องความขัดแย้งในรูปแบบสงครามความคิดตรงข้ามนิกค์มุ่งตรงไปที่สงครามระหว่างรัฐ โดยที่มิได้เจาะจงว่าเป็นที่ไหน ซึ่งเราก็อาจมองได้ว่ามันคือสงครามความขัดแย้งในซีเรีย ยูเครน นากาโน-คาราบัค และอาจนับรวมเยเมนด้วย ล่าสุดก็คือความขัดแย้งในพื้นที่ซาฮาราตะวันออกที่ต้องการแยกตัวออกเป็นอิสระจากโมร็อกโก จนเกิดการสู้รบอย่างรุนแรง จนผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เพราะพื้นที่ดังกล่าวอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ สุดท้ายสหรัฐฯก็ประกาศสนับสนุนโมร็อกโก เพื่อแลกกับการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล นี่เป็นอีกตัวอย่างของการสร้างความชอบธรรมในการเข้าแย่งยึดดินแดนของประเทศอื่น กลุ่มประชาชนที่ต้องการเป็นอิสระตามกฎบัตรของสหประชาชาติ อย่างกรณีของปาเลสไตน์ สถานการณ์ความขัดแย้งนี้ จะค่อยๆเพิ่มความร้อนระอุที่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากดูอย่างผิวเผินอาจดูว่ามันไม่น่าจะนำไปสู่การเกิดสงครามโลก แต่ผู้ที่เข้าร่วมสนับสนุนความขัดแย้งนี้ล้วนแต่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส ดังนั้นมหาอำนาจนิวเคลียร์เหล่านี้จึงน่าจะระมัดระวังที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพราะกลัวการตอบโต้ แต่เหตุการณ์บางอย่างเช่น สถานการณ์ในตะวันออกกลางที่อิสราเอลพยายามที่จะทำลายโครงการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่าน เพราะเกรงว่าอิหร่านจะพัฒนาไปสู่อาวุธนิวเคลียร์นั้น มันสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามใหญ่ โดยเฉพาะอิสราเอลมีระเบิดนิวเคลียร์ไม่ต่ำกว่า 200 ลูก และไม่ได้อยู่ในสนธิสัญญาการควบคุมการแพร่กระจายและการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นสงครามใหญ่ที่จะบานปลายไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 และการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อาจเกิดขึ้นได้จากการตัดสินใจหรือการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดของผู้นำที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อีกตัวอย่างคือการดำเนินการทั้งการรุกทางการทูตและปฏิบัติการทางทหารของ ประธานาธิบดีเรเซป เออร์โดกัน โดยคาดว่าจะไม่มีการตอบโต้จากกรีซ อิสราเอล ฝรั่งเศส หรือแม้แต่รัสซีย อาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ หากรัสเซีย ซีเรีย และอิหร่าน จะเปิดปฏิบัติการทางทหารอันจะนำไปสู่การเกิดสงครามได้ เช่น การเข้าโจมตีและยึดครองเมืองอิดลิบ ของซีเรียจากผู้ก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี และการเจรจากับตุรกีล้มเหลว ทั้งนี้การตัดสินใจของรัสเซียอาจมีผลจากการที่ตุรกีเข้าสนับสนุนอาเซอร์ไบจาน ในการสู้รบกับ อาร์เมเนียที่แคว้น คาราบัค เพราะรัสเซียสนับสนุนอาร์เมเนีย ในกรณีนี้ตุรกีที่มีแรงกดดันจากการเมืองภายใน โดยเฉพาะการคาดคะเนถึงการแทรกแซงของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯในการพยายามล้มรัฐบาลของตน ก็อาจจะไม่ยอมถอย และใช้ปฏิบัติการณ์ทางทหารในการถล่มทหารซีเรีย ซึ่งอาจจะเกิดเหตุการณ์บานปลายที่นำไปสู่การโจมตีโดยไม่เจตนาต่อกองกำลังของรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งจะนำไปสู่การตอบโต้จนกลายเป็นสงคราม ประเด็นนี้ต้องไม่ลืมว่าตุรกีเป็นสมาชิกของนาโต ดังนั้นหากเกิดสงครามขึ้น นาโตก็ต้องออกมาปกป้องสมาชิกของตน กรณีอย่างนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ที่คาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเกาหลีเหนือเป็นพันธมิตรกับจีน และทั้ง 2 ประเทศก็มีอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่เกาหลีใต้ก็เป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจนิวเคลียร์สหรัฐอเมริกา อีกกรณีที่คงต้องพูดถึงคือกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่สหรัฐฯอ้างถึงการเปิดเสรีของท้องทะเล ในขณะที่กองเรือสหรัฐฯละเมิดน่านน้ำของรัสเซียในทะเลญี่ปุ่น เรื่องอย่างนี้หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สหรัฐฯก็ใช้มาตรการปิดล้อมคิวบาในเขตทะเลสากล ในนามของความมั่นคงแห่งสหรัฐฯในยุคของจอห์นเอฟ เคเนดี ซึ่งเหตุการณ์นั้นก่อให้เกิดความตึงเครียดในประชาคมโลกและอะไรจะเกิดขึ้นหากประธานาธิบดีครุสชอพแห่งสหภาพโซเวียตไม่ยอมถอย ดังนั้นแนวคิดที่ว่าสงครามเหล่านี้เป็นสงครามที่จำกัดและจะไม่นำไปสู่สงครามใหญ่ อาจจะกลายเป็นความผิดพลาดที่ไม่มีใครได้ผลประโยชน์เลยนอกจากหายนะที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้