เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: นำเกร็ดความรู้ “พรรณไม้เฉลิมพระเกียรติ” ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาเผยแพร่ให้ได้รู้จักกว้างขวางมากขึ้น ด้วยพระสิริโฉมอันงดงามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประกอบกับความสนพระราชหฤทัยในด้านการอนุรักษ์พรรณพืชต่างๆ เมื่อมีการค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ องค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธยมาตั้งเป็นชื่อดอกไม้และพรรณไม้หลายชนิด เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณให้กว้างขวาง พรรณไม้เฉลิมพระเกียรติ เป็นพรรณไม้ที่นักพฤกษศาสตร์ องค์กร และสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” หรือพระราชอิสริยยศ มาตั้งเป็นชื่อดอกไม้ ได้แก่ แคทลียาควีนสิริกิติ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Cattleya Queen Sirikit” บริษัท Black & Flory ซึ่งเป็นบริษัท กล้วยไม้เก่าแก่ของประเทศอังกฤษได้ผสมพันธุ์ขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2501 มีความสวยงามจนได้รับรางวัลระดับสูง จากราชสมาคมไม้ประดับ (Royal Horticultural Society) ของประเทศอังกฤษ บริษัทจึงขอพระราชทานนาม กล้วยไม้พันธุ์นี้ว่า “Queen Sirikit” ดอนญ่าควีนสิริกิติ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Mussaendaphilippica A Rich cv. Queen Sirikit” ประเทศฟิลิปปินส์ได้ขอพระราชทานนามเป็นชื่อดอนญ่าพันธุ์ใหม่ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อพุทธศักราช 2506 ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของประเทศฟิลิปปินส์ที่จะขนานนามดอนญ่าพันธุ์ใหม่ตามชื่อสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเท่านั้น กุหลาบควีนสิริกิติ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Rosa Queen Sirikit” นายอองเดร อองดริก (André Hendricx) ชาวเบลเยียม ผู้อา นวยการเรือนกุหลาบแห่งลุ่มน้าล ัวร์ ป ระเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ขอพระราชทานนาม เมื่อพุทธศักราช 2514 โดยกล่าวว่า “พระราชินีแห่งประเทศไทย ทรงมีพระสิริโฉมเป็นเสน่ห์แบบตะวันออกเหนือตะวันตก” โมกราชินี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Wrightia sirikitiae Mid. & Santisuk” เป็นพรรณไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ และยกขึ้นเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก พบเฉพาะในประเทศไทยบริเวณเขาหินปูน กระจายอยู่หลายพื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี และสระแก้ว มหาพรหมราชินี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chalermglin & M.K.R. Saunders” จัดเป็นไม้หายากและเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากผลสุกมีรสหวานจึงเป็นอาหารที่โปรดปรานของสัตว์ป่า พบเพียง 18 ต้น เท่านั้น ขณะนี้เก็บตัวอย่างมหาพรหมราชินีไว้ที่หอพรรณไม้สำคัญของโลก 5 แห่ง คือ หอพรรณไม้มหาวิทยาลัยออฮุส และหอพรรณไม้มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก หอพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์คิว ประเทศอังกฤษ หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และหอพรรณไม้มหาวิทยาลัยฮ่องกง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานนามในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ศรีกิตติยา เป็นบัวสายหรือบัวกินสาย พันธุ์ลูกผสมตามธรรมชาติภายในบ้านปางอุบล ดอกสีชมพูแกมแดง ลักษณะกลีบสีแดงเข้มโดดเด่นกว่าบัวในท้องถิ่นทั่วไป ชื่อศรีกิตติยาเป็นชื่อที่ตั้งโดย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา เมื่อพุทธศักราช 2552 บัวควีนสิริกิติ์ นายไพรัตน์ ทรงพานิช นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ผสมพันธุ์บัวข้ามสายสกุลระหว่างบัวฝรั่งหรือบัวเขตอบอุ่นของสหรัฐอเมริกากับบัวผันของไทย นับเป็นครั้งแรกของโลกที่สายพันธุ์บัวเขตอบอุ่นมีสีม่วง จากผลสำเร็จครั้งสำคัญนี้ สมาคมพฤกษศาสตร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงได้ขอพระราชทานนามชื่อบัวสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “ควีนสิริกิติ์” เมื่อพุทธศักราช 2555 ที่มา: หนังสือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา 12 สิงหาคม 2563 กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์และภาพ