การเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่จะถึงนี้ พื้นที่ 7 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ซึ่ง มีการแข่งขันกันสูง ทั้ง 7 จังหวัด จากการติดตาม การแข่งขันครั้งนี้ พบว่า “เงินยังเป็นตัวแปร “มากกว่า นโยบาย ของแต่ละทีม ในขณะที่ ผู้สมัครที่เป็นคนในพรรค พลังประชารัฐ จะได้เปรียบ เพราะโครงการแจกแล้ว แจกอีก ตั้งแต่บัตรคนจน เงินคนแก่ และ”คนละครึ่ง” มีผลที่ทำให้ผู้มีสิทธิ เลือกคนของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กระแส ยังไม่กลับมา สถานการณ์ของ ประชาธิปัตย์ ยัง ย่ำแย่ เหมือนกับครั้งที่มีการเลือก ผู้แทน ครั้งที่แล้ว เริ่มต้นที่ จ. นราธิวาส ถึงแม้จะมีผู้สมัครลง 3 คน แต่สนามนี้เป็นการแข่งขัน ระหว่าง 2 คน ระหว่าง นักการเมืองรุ่นเก่าลายคราม อย่าง นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก 4 สมัย อายุ 75 ปี ที่มี ลูกชาย 2 คน เป็น สส.ใน จ.นราธิวาส คือ นายวัชระ ยาวอหะซัน สส.พรรค พลังประชารัฐ และ กูเฮง ยาวอหะซัน สส.พรรคประชาชาติ กับ นายรำรี มามะ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ อายุ 70 ปี ทั้ง 2 ทีม งัด กลยุทธ ทางการเมืองหลายรูปแบบ มาใช้ในการหาเสียง และทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมีเงินถุง ที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน แต่ นายกูเซ็ง ได้เปรียบที่มี ลูก 2 คน เป็น สส.ในพื้นที่ และ มี สส.พรรคภูมิใจอีก 1 เขตเลือกตั้งเป็นพันธมิตร ในขณะที่ รำรี มามะ ที่ ร้างเวทีเลือกตั้งไปนาน ได้ นัจมูดีน อูมา อดีต สส.เก่า คนของพรรคประชาชาติ ให้การสนับสนุน ซึ่งมีตรวจสอบคะแนนสียง และค่านิยมของคนในพื้นที่แล้ว เชื่อว่า นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน ยังจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมัยที่ 5 โดยมีผู้สมัครของพรรค ก้าวไกล ตามมาห่างๆ แบบได้ประสบการณ์แต่ไม่ได้ตำแหน่ง จ.ยะลา เป็นจังหวัดเดียว ใน 7 จังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง ที่การหาเสียงครั้งนี้ ไม่มีความดุเดือด เพราะแชมป์เก่า อย่าง มุขตาร์ มะทา น้องชายของ วันมูหะมัด นอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยังได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่เพราะที่ผ่านมาบริหารงบประมาณแบบทั่วถึง และเป็นนักการเมืองที่ไม่ใช้อิทธิพล ส่วนคู่แข่งคือนายอับดุลลาเต๊ะ ยากัด ซึ่งเคยเป็นอดีต นายก อบจ.ยะลา ในสมัยที่มีการเลือกตั้งทางอ้อม ปี 2535 ซึ่งในวันนี้ ไม่ใช่คู่แข่งของนายมุขตาร์แต่ออย่างใด ดังนั้นสุดท้ายแล้ว คนที่ได้รับเลือกตั้งคือ มุขตาร์ มะทา ส่วน ส.อบจ. อาจะมีผู้สมัครอิสระเข้ามาได้บ้าง จ.ปัตตานี ก็เป็นอีกพื้นที่ ซึ่งมีการแข่งขันกันดุเดือด ระหว่างนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ. 3 สมัย ซึ่งมีเครือข่ายกว้างขวาง ทั้งผู้นำศาสนา องค์กรมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งคู่แข่งก็เป็นคนกันเองเป็น ส.อบจ.ที่เคยกอดคอกันมาและร่วมต่อสู้ทางการเมืองกันมา เป็นนักการเมืองท้องถิ่นด้วยกันอย่าง นายรุสดี สารอเอง ซึ่งถ้าวัดกัน ปอนด์ต่อปอนด์ อาจจะสู้ เศรษฐ์ ไม่ได้ แต่มีทีมที่เป็น รอง นายกอย่าง “จ่าเลาะ” ที่สามารถดึงคะแนนเสียงจากประชาชนได้ และได้ สส.พรรคภูมิใจไทย เขต 3 เข้ามาให้การสนับสนุน ทำให้ในหลายเขตหลายพื้นที่มีการแข่งขันช่วงชิงฐานเสียง และหัวคะแนนกันดุเดือด แต่จากการลงพื้นที่พบว่าคนใน จ.ปัตตานี ยังให้การสนับสนุน เศรษฐ์ มากกว่า เพียงแต่ครั้งนี้ เศรษฐ์ ใน 12 อำเภอของ จ.ปัตตานี ซึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เศรษฐ์ จะชนะ 10 อำเภอ และแพ้ 2 อำเภอ คือ อ.สายบุรี กับ อ.ปะนาเระ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เศรษฐ์ อาจจะแพ้ 4 อำเภอ แต่ก็ยังชนะ ได้เป็น นายก อบจ.ปัตตานี สมัยที่ 4 ชัวร์ แต่มีโอกาส “ล็อคถล่ม”ได้เหมือนกัน เพราะก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน รัฐมนตรี กระทรวงหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย ลงไปประชุมที่ ปัตตานี พร้อมให้ งบประมาณ ในพื้นที่อย่าง มหาศาล ที่อาจจะดึงคะแนนเสียงให้กับ รุสดี ในโค้งสุดท้ายก็เป็นไปได้ จ.สตูล แม้ว่า จะมีผู้สมัครเพื่อแข่งขันเป็น นายก อบจ.สตูล มากถึง 4 คน แต่ที่แข่งกันจริงๆ คือ นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ เจ้าของตำแหน่ง นายก อบจ. และนายเกตุชาติ เกษา อดีตกำนัน ที่เป็นคนสนิทของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งนายสัมฤทธ์ และนายเกตุชาติ คือคนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาแข่งกันเอง โดยนายสัมฤทธิ์ มีหลานชายเป็น สส. เขต 2 พรรคภูมิใจไทย ที่ได้พันธมิตร สส.เขต 1 พรรคเดียวกัน ให้การสนับสนุน และถ้าเทียบเรื่อง “กระสุน” ที่ใช้การหาเสียง นายเกตุชาติ ก็สู้นายสัมฤทธิ์ ไม่ได้ ที่สำคัญ กระแสพรรคประชาธิปัตย์ใน จ.สตูล ยังตกต่ำ เป็นโอกาสที่ทำให้ สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ วิ่งเข้าป้ายแบบคะแนนทิ้งห่างเป็น นายก อบจ. สมัยที่ 2 แบบ ไม่ยากเย็น ที่ จ. พัทลุง ก็เป็นสนามที่ แข่งดุ ไม่แพ้แข่ง “วัวชน” ที่มีจาก คอกเดียวกัน เพราะในขณะที่นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร เป็น นายก อบจ. นายภุชงค์ วรศรี เป็นประธานสภาอบจ. จากทีมเดียวกัน แต่เมื่อ ตำแหน่ง นายก อบจ.มีเพียง ตำแหน่งเดียว ทั้งคู่จึงต้อง แข่งกันเอง โดยให้ คนในจังหวัดพัทลุงเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร นายวิสุทธิ์ นั้น เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอน ดังนั้นในการหาเสียงครั้งนี้ พลพรรคของ ประชาธิปัตย์ ที่เป็น สส.สอบตกทั้ง เขต 1 และ เขต 2 พร้อมหัวคะแนนหาเสียงให้อย่างเต็มที่ แบบ แพ้ไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้ สส.ของพรรค ทั้ง “นิพิษฏ์” และ “วัชรี”แพ้ไปแล้วทั้ง 2 เขต ให้กับพรรคภูมิใจไทย ครั้งนี้ ภุชงค์ วรศรี ที่เป็นคู่แข่ง ก็มีคนของภูมิใจไทยอย่าง “เจ๊เปี๊ยะ” นางนาที รัชกิจประการ เป็นกองหนุน บวกกับบารมีของ บันเทิง วรศรี ผู้เป็นพ่อ ที่เคยรับราชการเป็น ผอ.ชลประทานในพื้นที่ ก็ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด เป็น วัวชน คู่เอก ที่มีเดิมพันสูง คู่นี้ แพ้ ชนะ ที่ ใคร ยิงกระสุนมากกว่ากัน แต่กระแสส่วนตัวของนายวิสุทธิ์ ยังเหนือกว่านายภุชงค์ นิดๆ ซึ่งหากไม่มีเรื่อง”กระสุน” ใน 2-3 วันสุดท้ายแบบ ยิง”สลุต” เชื่อว่า”วิสุทธิ์” ยังจะเข้าวิน สนามสุดท้ายของภาคใต้ตอนล่าง ที่ดุเดือดที่สุดไม่พ้น สนามจังหวัดสงขลา ระหว่าง พ.อ.พิเศษ สุชาติ จันทรโชติกุล ทีม สงขลาประชารัฐ กับ ว่าที่ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ ทีมพรรคประชาธิปัตย์ พ.อ.สุชาติ ได้เปรียบตรงที่เปิดตัวหาเสียงมานาน ตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง สส. เสร็จใหม่ๆ และมี”ดีกรี” เป็นอดีต ผอ.เลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ที่กวาด สส.ภาคใต้มาได้ ถึง 13 ที่นั่ง จนกลายเป็น “เครดิต”ในพรรคพลังประชารัฐ เข้าตา บิ๊กตู่ และ บิ๊กป้อม เพราะเป็นผู้สร้าง บาดแผล ให้กับ พรรคประชาธิปัตย์ ที่วันนี้ยังจดจำ ในขณะที่ ไพเจน นั้น เปิดตัวอย่างเป็นทางการเพียง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง จึงทำให้เสียเปรียบในเรื่องลงพื้นที่และการเข้าถึงประชาชน แต่จุดแข็งของ ไพเจน คือ มี 2 รัฐมนตรี และ 2 สส.ในพื้นที่ อย่าง นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และ รมช.คมนาคม ถาวร เสนเนียม พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.เขต 8 และ เดชอิศม์ ขาวทอง สส.เขต 5 สงขลา ผนึกกำลัง เพื่อเป็น พี่เลี้ยง ในการนำ ไพเจน เข้าไปนั่งในตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลา อย่างเต็มที่ แต่ ในฝ่ายของ พ.อ.สุชาติ นั้น ได้เปรียบในการที่สังกัดพรรค พลังประชารัฐ ซึ่งโครงการ ที่แจกเงิน ตั้งแต่บัตรคนจน เบี้ยคนแก่ นโยบาย คนละครึ่ง และเงิน ช่วยเหลือ “โควิด 19” เป็นเหมือน “ลมใต้ปีก” ที่ช่วยให้ บินได้สูงได้เร็วขึ้น ในขณะที่ คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ภาคใต้ยังดีอยู่ ผิดกับคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังตกต่ำ และ พ.อ.สุชาติ ยังเน้นการ ตั้งเวทีปราศรัยหาเสียงใน 16 อำเภอ โดยมี อดีต สว. ฉายา “ลูกแม่ค้าน้ำผึ้งแว่น” อย่าง สมพงศ์ สระกวี และ ไพร พัฒโน อดีต นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ช่วยปราศรัยหาเสียง รวมทั้งมี อดีต เสธ อีกหลายคนในวงการทหาร มาช่วยวางแผนในการหาเสียงครั้งนี้ แต่จากการสำรวจคะแนนเสียงก่อนที่จะถึงวันที่ 20 พบว่าคะแนนเสียงของ พ.อ.สุชาติ ยัง แซง ไพเจน อยู่เล็กน้อย ซึ่งกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ยังมี ปัจจัยอื่น ที่เป็นตัวแปร อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของ “กระสุน” เพราะยังมีกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตัว ที่เคยได้รับเงินในการไปใช้สิทธิ์ ยังรอหัวคะแนนในพื้นที่ เคาะ วันที่จะมีการแจกเงิน เพื่อเป็นการ ขายเสียง ซึ่งพบว่า มีเสียงของประชาชนที่พร้อมจะ ขาย ให้กับผู้ที่จ่ายเงินมากที่สุด ซึ่งวันนี้กลายเป็น วัฒนธรรมในการเลือกตั้งของภาคใต้ไปแล้ว ในพื้นที่ จ. สงขลา นั้น มีการแจกเงิน มีการแจกเนื้อหมู่ เนื้อวัว แจกเสื้อ และมีการ ร้องเรียน กกต.เกี่ยวกับเรื่องการทำผิดกฎหมายไปแล้วหลายเรื่อง ซึ่งมีการร้องเรียน กกต.ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการ สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งสุดท้าย เกจิ ทางการเมือง เชื่อว่า พื้นที่ในการ ชี้ขาด ของการแพ้-ชนะ ของ การแข่งขันครั้งนี้ อยู่ที่ อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา ถ้าใครชนะใน 2 เขตนี้ จะได้นั่งเก้าอี้ นายกอบจ.สงขลา ที่สร้างความแปลกใจ ให้กับคอการเมืองใน จ.สงขลา เป็นอย่างยิ่งคือ มีข่าวว่าอัตราการซื้อเสียงในสงขลา มีการตั้งราคาที่หัวละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นการ ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ที่สูงเท่ากับการ ซื้อสิทธิ์ ขายสียง ของการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ในอำเภอหนึ่งของ จ.สงขลา เมื่อเร็วๆนี้ จึงมีการประมาณการณ์ว่า ถ้าผู้สมัครต้องใช้เงินในการ ซื้อเสียง 50 เปอร์เซ็นของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องใช้เงินมากถึง 1,000 ล้านบาท จึงจะชนะเลือกตั้ง ++++++++++++++