ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า จากที่ได้มอบนโยบายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 หรือ อพท. 2 ไปดำเนินการสำรวจศักยภาพและความโดดเด่นทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของพื้นที่และชุมชนในเขตภาคอีสานตอนใต้ โดยข้อมูลพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ในเรื่องของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่สามารถนำมาพัฒนายกระดับเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะมรดกทางภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไปได้ตามกาลเวลาและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นหากนำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวเข้ามายกระดับและพัฒนาให้เกิดเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยวก็จะสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ประโยชน์ทางอ้อมคือทำให้เกิดการเรียนรู้และสืบทอดไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ถือเป็นความยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้บัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Culture Heritage) ค.ศ. 2003 ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากนานาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และประเทศไทยได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติด้วย กิจกรรมเรียนรู้การตีโทน สำหรับในเรื่องนี้ อพท. เห็นว่าการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อารยธรรมอีสานใต้ จะเป็นการอนุรักษ์และการสืบทอดวัฒนธรรมให้มีชีวิตขึ้นมา โดยการให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ สัมผัสกับคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมด้วยตัวเอง จะทำให้เกิดความซาบซึ้ง ประทับใจ และเกิดความยั่งยืนในมิติทางวัฒนธรรม ชุมชนเองจะมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ด้าน นายพลากร บุปผาธนากร ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และรักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 อพท. กล่าวว่า พื้นที่อีสานใต้ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี โดยในปีงบประมาณ 2563 ทาง อพท. 2 ได้พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมใน 3 จังหวัด รวม 10 กิจกรรม ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย 1.กิจกรรมเพลงโคราช 2.กิจกรรมรำโทนพันปี 3.กิจกรรมเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน 4.กิจกรรมผ้าภูอัคนี 5. กิจกรรมผ้าไหมหางกระรอกคู่ตีนแดง 6.กิจกรรมนวดไทยคลายเส้น 7. กิจกรรมวิถีคนเลี้ยงช้าง 8.กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมชาวกูย 9. กิจกรรมศิลปะการแสดงกะโน้บติงตอง และ 10. กิจกรรมศิลปะการแสดงกันตรึม และในปีงบประมาณ 2564 วางแผนพัฒนากิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบเดียวกันนี้ในอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 5 กิจกรรม กิจกรรมเรียนรู้ปั้นดินเผาด่านเกวียน อย่างไรก็ตามการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในรูปแบบของ อพท. ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจและความพร้อมของชุมชนที่ต้องการจะยกระดับภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตัวเองที่มีอยู่ให้เป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว จากนั้นจึงทำกระบวนการทำความเข้าใจกับเจ้าของกิจกรรม คัดเลือกกิจกรรมที่นำมาต่อยอดได้ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการออกแบบกิจกรรม การพัฒนาบุคลากรต้อนรับนักท่องเที่ยว การพัฒนานักสื่อความหมาย การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดสถานที่ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนการให้บริการกับนักท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความประทับใจ การคิดราคาจากกิจกรรมที่พัฒนา การจัดเก็บข้อมูลรายได้ของเจ้าของกิจกรรม และการจัดกิจกรรมทดลองรับนักท่องเที่ยว เมื่อสำเร็จและมีความพร้อมดีแล้ว ล่าสุด อพท. จึงได้จัดกิจกรรมเปิดตัว 10 กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 2564 เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์สู่หน่วยงานภาคีเครือด้านการตลาดต่อไป