ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: อีกก้าวของกรมศิลปากรกับนโยบายเชิงรุกในการพัฒนามาตรฐานงานขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดการประชุมผู้แทนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในครอบครองของวัดและเอกชน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดโดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ ห้องประชุมคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 90 คน
นายประทีป กล่าวว่า กรมศิลปากรมีหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคที่ดูแลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในครอบครองของวัดและเอกชน โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รวม 41 แห่ง มีภัณฑารักษ์และเจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ที่นอกจากดูแลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากรแล้ว ยังมีหน้าที่ในการทำนุบำรุง ปกป้อง สงวนรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่แม้ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร แต่มีคุณค่าเชิงโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ เทคนิคศิลปกรรมโบราณไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน สมควรได้รับการคุ้มครองในฐานะสมบัติของชาติ โดยดำเนินการภายใต้โครงการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในครอบครองของวัด ภาครัฐและเอกชน ทั่วราชอาณาจักร ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 30 ปี
ทั้งนี้ กรมศิลปากรให้ความสำคัญกับการปกป้องโบราณสถาน โบราณวัตถุอันทรงคุณค่า โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2478 ด้วยจุดมุ่งหมายป้องกันมิให้โบราณวัตถุเหล่านั้นถูกทำให้เสื่อมค่า ชำรุด หรือสูญหายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ครอบครอง และเป็นหลักฐานว่าโบราณสถานและโบราณวัตถุเหล่านั้นมีใครเป็นเจ้าของ ปัจจุบันมีโบราณวัตถุได้รับประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วทั้งสิ้น 7,147 รายการ มีผู้ครอบครองทั้งสิ้น 1,607ราย ทั้งได้ติดตามตรวจสอบสภาพ ความเปลี่ยนแปลงสถานะของโบราณวัตถุเหล่านั้นโดยมีการยกระดับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโบราณวัตถุที่ประกาศขึ้นทะเบียนที่เกิดความชำรุดเสียหาย ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้ว่าโบราณวัตถุในวัดได้รับประกาศขึ้นทะเบียน แล้วต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีการชำรุด เสียหาย เสื่อมสภาพ เปลี่ยนแปลงสถานที่ มีการโอนย้าย หรือสูญหาย
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า เนื่องจากกรมศิลปากรแจ้งผู้ครอบครองให้ทราบเพียงครั้งเดียว คือ ครั้งแรกที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าอาวาสหรือผู้ครอบครองคนใหม่ จึงไม่รู้ระเบียบหลักเกณฑ์ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ดังนั้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 จึงได้มอบนโยบายให้แต่ละหน่วยงานจัดทำหนังสือแจ้งผู้ครอบครองเป็นประจำทุกปี เพื่อทบทวนรายการโบราณวัตถุและเน้นย้ำให้ผู้ครอบครองทุกรายปฏิบัติตามระเบียบที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการติดตามตรวจสอบโบราณวัตถุที่เคยประกาศขึ้นทะเบียนแล้วทุกรายการเป็นประจำทุกปี ถือเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกให้ผู้ครอบครองตระหนักถึงความสำคัญของโบราณวัตถุในฐานะสมบัติของชาติ
“กรณีหนังสือบุด เอกสารโบราณที่ถูกโจรกรรมจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชจำนวนมาก ซึ่งมีการสอบถามว่ากรมศิลปากรเคยประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุเพื่อคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้านเหล่านี้หรือไม่ ทางกรมฯ เองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของเอกสารโบราณเหล่านี้ ในฐานะภูมิปัญญาของชาติแขนงหนึ่ง นับวันจะถูกทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงได้มีนโยบายให้สำรวจและพิจารณาโบราณวัตถุกลุ่มสมุดไทย หนังสือบุด คัมภีร์ใบลาน ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติเช่นเดียวกับโบราณวัตถุชนิดอื่น เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองในฐานะโบราณวัตถุที่ประกาศขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่อไป” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว
อีกก้าวกับนโยบายเชิงรุกในการพัฒนามาตรฐานขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ