. 9 ธันวาคม 2563 คณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมน้อมรำลึกถึงคุณูปการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นพระผู้จุดประกายและนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ วิทยาการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายจากดาวเทียม รวมทั้งเทคโนโลยีอวกาศ มาสนับสนุนพระราชกรณียกิจ ก่อให้เกิดการพัฒนาที่นำไปสู่แนวพระราชดำริการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ผ่านการเสวนา “เทคโนโลยีอวกาศสู่การพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ . พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา กล่าวว่า การจัดเสวนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทย รวมทั้งเผยแพร่ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย และกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรด้านการศึกษา เกิดมุมมองความรู้ใหม่และความเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ ยกระดับเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย และในระดับภูมิภาคอีกต่อไป การร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทย ในด้านต่างๆ จะเป็นการนำเสนอทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในแต่ละมุมมอง ทั้งด้านการสื่อสาร ด้านเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร ด้านเศรษฐกิจอวกาศ และด้านการบริหารการตัดสินใจในนโยบายเชิงพื้นที่ อีกทั้งภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ที่ทรงมีต่อการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทย นิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่นำพระอัจฉริยภาพของพระองค์มาเป็นแนวปฏิบัติ กำหนดเป็นภารกิจหลักขององค์กรในด้านการนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์และจัดทำแผนที่พร้อมใช้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งแสดง เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางอวกาศ เช่น เทคโนโลยีอวกาศระดับเยาวชน (จรวดเชื้อเพลิง, Balloon Sat เเละ ดาวเทียมขนาดเล็กเเคนเเซท CanSat) ความร่วมมือระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท mu space (จัดแสดงอุปกรณ์ที่ส่งขึ้นไปทดสอบบนอวกาศ) แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม - การอนุญาตการให้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมโดยระบบการอนุญาต (License) ครั้งแรกของประเทศไทย – การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาตของธุรกิจดาวเทียม ธุรกิจนวัตกรรมด้านอากาศยานไร้คนขับ โมเดลของดาวเทียม “นภา-1” เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนกองทัพอากาศตามยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี ผลงานวิจัยด้าน GNSS , พลาสมาบับเบิ้ลในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ และแบบจำลอง Cube-sat เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนมุมมองขององค์กรและนวัตกรรุ่นใหม่ ต่อการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศ โดยมีผู้แทนจาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนกําเนิดวิทย์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เข้าร่วมในครั้งนี้อีกด้วย พลอากาศเอกประจิน กล่าว ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า อวกาศเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุกๆ มิติ ซึ่งหากมองโดยภาพรวมแล้ว สิ่งที่ GISTDA เร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ 1) การศึกษาโอกาสทางธุรกิจ เราจะต้องทำการวิเคราะห์ว่าสามารถทำอะไรได้บ้างในเรื่องของอวกาศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ การลงทุน ความคุ้มค่า และต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า รวมไปถึงการเตรียมความพร้อม การวางแผน และการดึงดูดพันธมิตรหน้าใหม่ในวงการอวกาศเพื่อสร้างความร่วมมือกันในอนาคต 2) สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศว่าสามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยของเราได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการสร้างความตระหนักนี้เกิดจากบุคลากรที่เราสร้างขึ้นมาจากหน่วยงานภาครัฐที่ไปร่วมมือกับโครงการระบบ THEOS-2 และจากผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ โดย GISTDA จะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมความร่วมมือ สร้างเครือข่ายผู้มีความรู้ด้านอวกาศให้มากที่สุดเพื่อที่จะกระจายองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) สร้างคน ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากระดับมัธยมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย คิดค้นและพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำมาบูรณาการและต่อยอดได้ เช่น การเขียนโปรแกรมการสื่อสารระหว่างดาวเทียมกับบนพื้นโลก หรือความร่วมมือต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอวกาศซึ่งมีหลากหลายด้านที่เราจะต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับอนาคตของประเทศไทย ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาก็เริ่มบรรจุความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการสร้างดาวเทียมบ้างแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเน้นย้ำให้เนื้อหาหลักสูตรมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยระยะแรกไม่จำเป็นต้องเน้นวิชาการมากนัก แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่สามารถสร้างจินตนาการเพื่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจได้ หรือมีแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนให้เด็กๆ สามารถสร้างและประกอบดาวเทียมเองได้ เป็นต้น และส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย คือการส่งเสริมการกำกับในภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างประเทศ ที่ต้องการมาใช้ประโยชน์จากอวกาศในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้เรามีการเตรียมการในการร่าง พรบ.กิจการอวกาศอยู่แล้ว ซึ่ง พรบ. ดังกล่าว อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา ก็จะสามารถนำมาช่วยส่งเสริมในการกำกับการดำเนินงานในอนาคตได้ รวมถึงรองรับอุตสาหกรรมอวกาศและกิจการอวกาศที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องและเตรียมรับมือกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศได้อีกด้วย ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อไปว่า จากนี้ไปประเทศไทยจะเร่งเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศต่อไปอย่างเต็มกำลัง พร้อมกับการขยายกลุ่มผู้ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปสู่ภาคสังคม ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนารูปแบบข้อมูลและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้ใช้งานธุรกิจในกลุ่มต่างๆ ตลอดจนทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลักดัน Co-creation ในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ ณ วันนี้ เทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้กับประเทศในการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ปัจจุบัน GISTDA ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาคารประกอบและทดสอบดาวเทียม ที่เรียกว่า AIT ตั้งอยู่ที่ศรีราชา บุคลากรของเราหลายๆ รุ่น ถูกส่งไปเรียนรู้เรื่องการประกอบดาวเทียมในประเทศต่างๆ ของโลก เราส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชนด้วย มีส่วนงานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้จริงจัง ครอบคลุมไปยังสถานศึกษา "เราพยายามสร้าง Eco System ในเรื่องนี้ไว้รองรับเพื่อเปิดรับ startup และส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ๆ และหาทางเปิดประตูสู่แหล่งทุนให้ด้วย" ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว ขณะที่อุตสาหกรรมอวกาศโลกในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่ามากถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ และประเทศไทยก็กำลังเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace Industry ด้วยเช่นกัน โดยกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ดังนั้น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ จึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจประเทศ ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็กที่จะถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศ เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาคเอกชนที่อาศัยสารสนเทศอย่างเช่น IOT ซึ่งแต่ละปีมีความต้องการส่งดาวเทียมเหล่านี้ขึ้นไปหลายพันดวง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องศึกษาเรียนรู้และพัฒนา โดยเฉพาะการผลิตบุคลากรที่จะเข้าสู่วงจรอุตสาหกรรมการผลิต โปรแกรมมิ่ง แอพพลิเคชั่น หรือการนำไปประยุกต์ใช้ต่างๆ อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมนี้ คือ การมี "ท่าอวกาศยาน" เพื่อเป็นฐานปล่อยจรวดสู่ห้วงอวกาศ ซึ่งหากประเทศไทยมีท่าอวกาศยานเป็นของเราเอง ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ทางตรงแล้ว ยังเกิดอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องตามมาไม่ใช่แต่เพียงในอุตสาหกรรมเดี่ยวกัน แต่ยังข้ามอุตสาหกรรมไปงานอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย ดังนั้น GISTDA ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในด้านกิจการอวกาศ จึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการกำกับ ดูแล ศึกษาหาช่องทาง หาโอกาสในเรื่องของกิจการอวกาศอย่างรอบคอบในทุกๆ บริบท และต้องให้ความสำคัญกับทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงมีเครือข่ายพันธมิตรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีอยู่มากมายหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว.