กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อวันนี้การต่อสู้ทางการเมืองของ กลุ่มผู้ชุมนุมในนาม “คณะราษฎร 2563”ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อ เหลือเพียงกลุ่มราษฎร เมื่อล่าสุดมีความเคลื่อนไหว ชูแนวคิดและเป้าหมายที่แจ่มชัดมากขึ้นแล้วว่า ต้องการมุ่งไปยัง ระบอบสาธารณรัฐ ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา ม็อบราษฎร ได้ประกาศทิศทางการเคลื่อนไหวและทางการเมือง อย่างตรงไปตรงมา ผ่านเพจเฟชบุค Free YOUTH เปิดตัว RT MOVEMENT หมายความว่า RESTART THAILAND และเมื่อย้อนไปก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เพจเฟชบุคเดียวกัน ยังได้โพสต์ข้อความขอให้ร่วมกันเรียกร้องการปกครองแบบสาธารณรัฐ ระบุข้อความว่า “รัฐที่มหาชนเป็นใหญ่” สาธารณรัฐ(Republic) เป็นรูปแบบการปกครองที่แพร่หลายทั่วโลก เน้นการกระจายอำนาจการปกครอง ผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม อีกทั้งยังมีการเปิดโลโก้ด้วยการใช้รูปที่มีลักษณะคล้ายค้อนและเคียว บนพื้นที่แดง อันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ระบอบการปกครองรูปแบบสาธารณรัฐ มีคำอธิบายเอาไว้ว่า สาธารณรัฐ หรือบ้างเรียก มหาชนรัฐ (อังกฤษ: republic) เป็นระบอบการปกครองที่ประเทศถูกพิจารณาว่าเป็น "กิจสาธารณะ" (ละติน: res publica) มิใช่ธุระหรือทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ปกครอง และที่ตำแหน่งหน้าที่ของรัฐได้รับเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือได้รับแต่งตั้ง มิใช่ได้รับทอด ในสมัยใหม่ นิยามทั่วไปที่เข้าใจง่ายของสาธารณรัฐ คือ ระบอบการปกครองที่ประมุขแห่งรัฐอันมิใช่พระมหากษัตริย์ปัจจุบัน รัฐเอกราช 135 จาก 206 รัฐใช้คำว่า "สาธารณรัฐ" เป็นส่วนหนึ่งชื่ออย่างเป็นทางการ ประมุขของระบอบสาธารณรัฐ ส่วนใหญ่คือ ประธานาธิบดี การพูดถึงระบอบสาธารณรัฐ จากนักวิชาการที่แสดงความเห็นสนับสนุน ตลอดจนท่าทีจากม็อบปลดแอก ได้ถูกต่อต้านมาโดยตลอด จาก “ฝ่ายปกป้องสถาบัน” ทั้งในามกลุ่มไทยภักดี ที่มี “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” แกนนำกลุ่มได้ส่งสัญญาณต่อต้าน และเปิดโปงแนวคิดดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการชุมนุมของกลุ่มมวลชนราษฎร ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา “ เป้าประสงค์ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ปฏิรูปสถาบันฯจึงเป็นเป้าลวง แต่เป้าหมายจริงคือ การไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ให้พ่ายแพ้ เพื่อไปสู่การล้มลางสถาบันฯ และเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ” (18ต.ค.63)