เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่บริเวณหน้าทางเข้าอาคารศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้าน ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ประมาณ 80 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าขยะ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นากลาง ต่อมานายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาพบชาวบ้านซึ่งกำลังรวมตัวยืนถือป้ายเขียนข้อความพร้อมส่งเสียงสำแดงพลังไม่ต้องการโรงงานไฟฟ้าขยะจากนั้นได้เชิญขึ้นไปห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจพร้อมสอบถามปัญหาและความต้องการโดยหวั่นวิตกผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนที่เกิดจากขยะมูลฝอยทั้งกลิ่นเหม็นและสัตว์นำโรค ฯลฯ นางปราณี พินิจโคกกรวด ราษฎรบ้านนากลาง หมู่ 1 ต.นากลาง อ.สูงเนิน ตัวแทนชาวบ้านเปิดเผยว่า มูลเหตุของปัญหาเกิดจากการดำเนินโครงการไม่โปร่งใสโดยเปิดเผยข้อมูลบางส่วนให้ชาวบ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน ต.นากลาง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบด้านเดียว ทั้งผู้บริหาร อบต.ฯ เอกชนในฐานะเจ้าของโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพากันงุบงิบจนกระทั่งโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วเร่งดำเนินโครงการให้เสร็จเร็วที่สุด โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการขยะมูลฝอยของคนนอกพื้นที่แล้วขนมาทิ้งใน ต.นากลาง ที่ยังไม่ทราบพิกัดที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะ ทุกคนจึงหวาดกลัวจึงต้องมาร้องขอความเป็นธรรมกับ ผวจ.นครราชสีมา ให้ใช้อำนาจสั่งการระงับการดำเนินโครงการโดยไม่มีเงื่อนไข นางสาวปัณฑารีย์ โชรัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ชี้แจงว่า เมื่อช่วงต้นปี 2563 ฝ่ายปกครอง อ.สูงเนิน ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 7 ครั้ง และผ่านขั้นตอนการทำประชาคมแล้ว ต่อมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง ที่เป็นคลัสเตอร์จัดการ “ขยะมูลฝอย” แจ้งยกเลิกการขนขยะมากำจัดที่โรงงาน ฯ ดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณขยะไม่เพียงพอที่กำหนดไว้วันละ 4-500 ตัน ส่งผลให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ต่อมาเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามการอนุญาตให้ดำเนินโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างทีโออาร์หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างที่เป็นขอบเขตและรายละเอียดของภารกิจรวมทั้งต้องจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลเป็นรายบุคคลและเปิดเผยทุกด้าน นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนรับทราบปัญหาความวิตกกังวลพร้อมจะช่วยเหลือแก้ไขเยียวยาปัญหา ยืนยันโครงการนี้จะต้องทบทวนพิจารณาจัดการรับฟังความคิดเห็นโดยมีประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน หากท้ายที่สุดมติไม่ต้องการก็จำเป็นต้องยกเลิกโครงการ ด้าน ดร.ปรียาภัทร์ สมใจ ที่ปรึกษาโครงการ ฯ กล่าวชี้แจงว่า ภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา มีขยะใหม่เกิดขึ้นวันละกว่า 2 พันตัน แต่สามารถกำจัดถูกต้องตามหลักวิชาการประมาณ 1 พันตัน ส่งผลให้มีปริมาณขยะกว่า 1 พันตันตกค้าง จึงเป็นที่มาขอการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ มูลต่าประมาณ 2 พันล้านบาท กำหนดพิกัดตั้งอยู่ในหมู่ 5 ต.นากลาง เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขยะมูลฝอยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากรและขาดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง โดยจัดประชาพิจารณ์เมื่อช่วงปลายปี 2560 ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการที่ได้จากการแปรรูปขยะวันละ 4-500 ตัน มาเป็นพลังงานไฟฟ้าวันละ 7 เมกกะวัตต์ ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เพื่อนำรายได้มาจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งชุมชนจะได้ 5 % ของค่ากำจัดที่คิดจาก อปท.นำขยะมาให้กำจัดในราคาตันละ 400 บาท ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชน โรงงานแห่งนี้มีระบบกำจัดที่ผ่านการเห็นชอบของกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราไม่นำขยะมาเทกองบนพื้นซึ่งจะส่งกลิ่นเหม็นและสร้างผลกระทบด้านอื่นๆ ขยะมูลฝอยทุกชิ้นจะถูกนำไปเก็บรักษาในสถานที่ปิด เพื่อรอการกำจัดที่ถูกต้อง หากมีขยะหลุดออกมากองบนพื้นที่ตามที่ชาวบ้านวิตกเรายินดีให้ปิดโรงงานทันทีและให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้