บันทึกเมื่อ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่กาลิเลโอมองเห็นได้ตั้งแต่ 400 ปีก่อน และทำให้ชาวโลกประจักษ์ว่าดวงอาทิตย์นั้นหมุนรอบตัวเอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “...ภาพถ่ายล่าสุดของดวงอาทิตย์ บันทึกภาพในช่วงคลื่นไฮโดรเจนอัลฟา เห็น #จุดบนดวงอาทิตย์ ชัดเจน >>สำคัญมาก!!! การสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ต้องใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ<< พื้นผิวของดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นแก๊สทั้งดวงจึงไม่มีพื้นผิวที่แท้จริง มีชั้นบรรยากาศที่ส่องสว่างมากที่สุด คือ “โฟโตสเฟียร์ (#Photospere)” ที่มีลวดลายคล้ายกับฟองแก๊สเดือด เรียกว่า “แกรนูล (#Granule)” หนาประมาณ 500 กิโลเมตร มีอุณหภูมิ 5,500 องศาเซลเซียส แสงดวงอาทิตย์ที่เรามองเห็นจากโลกส่วนใหญ่ คือแสงที่มาจากบรรยากาศชั้นนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ แสงที่เดินทางออกมาชั้นโฟโตสเฟียร์จะใช้เวลาประมาณ 8 นาทีเพื่อเดินทางมาถึงโลก บริเวณชั้น #โฟโตสเฟียร์ เป็นชั้นที่พบ จุดบนดวงอาทิตย์ (#Sunspot) กล่าวคือ เป็นบริเวณที่สนามแม่เหล็กแปรปรวนและมีความเข้มสูง ทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิต่ำกว่าและสว่างน้อยกว่าบริเวณอื่นโดยรอบ เมื่อสังเกตจากโลกจะมีลักษณะเป็นจุดสีดำ รวมถึงเป็นชั้นที่มีการปลดปล่อยมวลสารออกสู่อวกาศ เช่น พวยแก๊ส (Prominence) และ การลุกจ้า (Flare) เป็นต้น ถัดจากชั้นโฟโตสเฟียร์ขึ้นไปเป็นชั้น “โครโมสเฟียร์ (Chromoshere)” เป็นชั้นที่พบลักษณะคล้ายหนามแหลมชี้ออกจากดวงอาทิตย์ เรียกว่า “สปิคูล (Spicule)” มีความหนาแน่นต่ำ และมีอุณหภูมิตั้งแต่ 5,000 ไปจนถึง 35,000 องศาเซลเซียส อุณหภูมิของชั้นโครโมสเฟียร์จะเพิ่มขึ้นตามระดับความสูงจนกระทั่งถึงขอบด้านบน อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ 1 ล้านองศาเซลเซียส และกลายเป็นบรรยากาศชั้นนอกสุด ชื่อว่า “โคโรนา (Corona)” #จุดบนดวงอาทิตย์ ถูกค้นพบตั้งแต่ยุคสมัยของกาลิเลโอ ซึ่งเมื่อสี่ร้อยปีก่อน กาลิเลโอส่องกล้องสังเกตดวงอาทิตย์ในเวลาเดียวกันทุก ๆ วัน เขาได้เห็นสิ่งที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ ดวงอาทิตย์มีรอยดำหลาย ๆ จุด รอยดำนั้นเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน บางครั้งรอยดำเหล่านั้นก็สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเลือนหายไปในเวลาไม่นาน เขาจึงวาดภาพดวงอาทิตย์ในเวลาเดียวกันทุก ๆ วัน เขาพบว่าจุดดำดังกล่าวเคลื่อนที่ไปอย่างช้า ๆ พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจากเดิม และจางหายไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้กาลิเลโอจึงรู้ว่า ดวงอาทิตย์มีการหมุนรอบตัวเอง บันทึกภาพ : 2 ธันวาคม 2563 ถ่ายภาพในช่วงคลื่นไฮโดรเจนอัลฟา ภาพ และข้อมูล : ธนกฤต สันติคุณาภรต - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.”