กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการกำหนดร่างกฎกระทรวงใหม่ เปิดรับฟังข้อเสนอทุกฝ่าย เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหลายแห่งต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและส่งผลกระทบต่อเงินฝากเงินหุ้นของสมาชิก กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติสหกรณ์เดิมเพื่อให้ทันกับธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนไปจนได้มาซึ่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ ฉบับแก้ไข พ.ศ.2562 เป็นเหตุให้ต้องมีการออกกฎกระทรวงตามพรบ.สหกรณ์ใหม่ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขให้กับสหกรณ์ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์และรักษาประโยชน์สูงสุดของสมาชิกโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและหลักการสหกรณ์
ทั้งนี้ กรมฯ ได้เสนอร่างกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 รวม 5 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย โดยปรากฏว่า มีผู้บริหารสหกรณ์ มีความกังวลใจในร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 รวม 5 ฉบับ ในประเด็นดังนี้
ข้อกังวลกรณีฝ่ายสหกรณ์จำนวนหนึ่งได้เสนอโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการกำหนดงวดชำระหนี้ของสมาชิก รายได้คงเหลือหลังจากหักหนี้ของสมาชิกในการดำรงชีวิต กรมขอเรียนชี้แจงว่าในระหว่างการพิจารณา สคก. ได้เปิดโอกาสในการรับฟังความเห็นทั้งจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และจากภาคสหกรณ์ที่มีผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยและชุมนุมสหกรณ์ นักวิชาการอิสระเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ ภาคราชการต้องคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญคือ การกำกับดูแลระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งทางการเงินและเกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับมวลสมาชิก จึงอาจทำให้มีข้อกำหนดในบางเรื่องไม่สอดรับกับข้อเสนอของภาคสหกรณ์
“ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ วัน 30 ก.ย.63 มีจำนวนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 563 แห่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,318 แห่ง รวม 1,881 แห่ง พบว่า กรณีการกำหนดงวดชำระหนี้เงินกู้สามัญ ที่กำหนดให้สมาชิกชำระเสร็จภายใน 150 เดือนตามร่างกฏกระทรวงนั้น มีสหกรณ์ร้อยละ 72.35 ที่อยู่ในเกณฑ์ และในร้อยละ 72.35 ก็ยังพบว่ามีถึงร้อย 58.64 ที่ปัจจุบันให้ไม่เกิน 120 เดือน สำหรับสหกรณ์ที่กำหนดงวดเกินกว่า 150 เดือนถึงมากกว่า 240 เดือน มีจำนวนร้อยละ 27.65 กลุ่มนี้ต้องปรับตัว กรมฯ จึงได้กำหนดไว้ชัดเจนในบทเฉพาะกาลให้เวลาสหกรณ์ในกลุ่มร้อยละ 27.65 ปรับตามตามเกณฑ์ภายในระยะเวลา 10 ปี“
ข้อกังวลกรณีกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาแหล่งเงินทุนที่กำหนดให้ต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อไม่ให้เป็นระดมทุนจากประชาชนเป็นการทั่วไป หรือการให้เงินกู้หรือการให้สินเชื่อแก่สมาชิกที่กำหนดว่าการให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกต้องไม่กำหนดงวดชำระหนี้ยาวเกินไป และสมาชิกจะต้องมีเงินได้คงเหลือหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งการกำหนดให้สมาชิกที่มีการขอกู้ยืมเงินเกิน 1 ล้านบาทต้องส่งข้อมูลเครดิตบุโรประกอบการพิจารณา ล้วนเป็นไปเพื่อไม่ให้สมาชิกมีภาระหนี้สินมากจนเกินไปและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ในข้อกังวลต่อข้อกำหนดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การจำกัดการกระจุกตัวในการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง และเรื่องอื่นๆ ในร่างนี้ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์และความมั่นคงทางการเงินของสหกรณ์และสมาชิกของสหกรณ์นั้นๆ ในระยะยาวเป็นสำคัญ ซึ่งกรมทราบถึงข้อกังวลใจของขบวนการสหกรณ์ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน
“ทั้งนี้กรมยืนยันว่าแนวทางในการกำหนดกฎกระทรวงได้ถือปฏิบัติเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัดในเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ที่ให้ส่วนราชการได้คำนึงถึงการให้โอกาสสหกรณ์ในการปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ ดังนั้น กฎกระทรวงทุกฉบับจึงได้มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ระยะเวลาสหกรณ์ในการปรับตัว และด้วยขนาดของสหกรณ์ก็ทำให้มีการกำหนดข้อปฏิบัติที่ต่างกันเพื่อความเหมาะสมของขนาดธุรกรรมและความสามารถของสหกรณ์ และจะเห็นว่าที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับขบวนการสหกรณ์มาโดยตลอดว่าหากใกล้ครบระยะเวลาในการปรับตัวแล้ว แต่สหกรณ์ยังเกิดปัญหาในทางปฏิบัติโดยมิได้เกิดจากเจตนา ก็จะมีการทบทวนข้อกำหนดต่างๆ อีกครั้ง เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของทุกภาคส่วน”รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว