ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ต่อปวงชนชาวไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ได้จัดแสดงผลงานทางดนตรี มิติรสเพลงไทย ครั้งที่ 7 “เทิดทูนเหนือเกล้า กษัตริย์เจ้าเกษตรการ” วันที่ 8 ธันวาคมนี้ บอกเล่าโครงการหลวงด้านการเกษตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผ่านบทเพลงไทย
ผศ.ดร.ไชยวุธ โกศล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า นักศึกษาหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีไทย จัดแสดงผลงานทางดนตรีไทย มิติรสเพลงไทย ครั้งที่ 7 “เทิดทูนเหนือเกล้า กษัตริย์เจ้าเกษตรการ” โดยวันที่ 4 ธันวาคม 2563 เวลา 17.00 น. เป็นการกำหนดอัดเพลง และวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เป็นการเผยแพร่ผลงานทางเพจ https://www.facebook.com/ThaiMusicSKRU ซึ่งในการแสดงผลงานทางดนตรีครั้งนี้ประกอบด้วย เพลงโหมโรงมหาราช (วงมหาดุริยางค์) เพลงสารถี สามชั้น (วงปี่พาทย์เสภา) เพลงดอกไม้ไพร เถา (วงปี่พาทย์ไม้แข็ง) เพลงระบำบันเทิงกาสร (วงปี่พาทย์ไม้นวม) เพลงบังใบ เถา (วงเครื่องสายผสมขิม) และ เพลงระบำพัธวิสัย (วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์)
ด้าน นายกันตพงศ์ สงฆ์สุวรรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาดนตรีไทย มรภ.สงขลา ผู้จัดทำโครงการ กล่าวว่า การแสดงผลงานทางดนตรีเทิดทูนเหนือเกล้า กษัตริย์เจ้าเกษตรการ ได้รับแรงบันดาลใจในการจัดวางคอนเซ็ปต์มาจากบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา (5 ธันวาคม 2554) พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับโครงการหลวงในด้านการเกษตร มาเล่าผ่านบทเพลงไทย ได้แก่
1. ด้านพัฒนาคุณภาพและสมดุลของน้ำ ตัวอย่างเช่น โครงการฝนหลวง โครงการชลประทาน โครงการแก้มลิง จะใช้เพลงโหมโรงมหาราช เนื่องด้วยในทำนองเพลงโหมโรงมหาราช อันเชิญเพลงสายฝน ซึ่งเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สอดคล้องกับโครงการในด้านพัฒนาคุณภาพและสมดุลของน้ำ
2. ด้านการแก้ไขปัญหาสภาพดิน เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินทราย ดินก้อนแข็ง ให้พสกนิกรได้ทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้เพลงสารถี สามชั้น เนื่องด้วยในบทเพลงนี้ได้นำบทร้องในบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในชุดเพลงเกษตร-กษัตริย์ในด้านดิน มาบรรจุเป็นบทร้องในเพลงสารถี สามชั้นครั้งนี้
3. ด้านการเพาะปลูก ทรงแก้ไขปัญหาในการปลูกข้าวในแนวภูเขา จึงเกิดเป็นโครงการปลูกข้าวขั้นบันใดและเกษตรผสมผสาน โดยใช้เพลงดอกไม้ไพร เถา เนื่องด้วยในบทร้องได้กล่าวถึงความงามและคุณค่าของดอกไม้ที่ร้อยเป็นพวง แล้วนำมาถวายพระมหากษัตริย์ ส่งกลิ่นหอมในเวลาบรรทม ทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณในผืนแผ่นดิน
4. ด้านปศุสัตว์ ทรงพระราชทานฟาร์มโคนม นำผลิตผลจากโคนมให้เด็กนักเรียนได้ดื่มกินเพื่อเสริมสร้างโปรตีน และยังได้จัดตั้งธนาคารโคกระบือ เพื่อให้เกษตรกรที่ขาดแคลนแรงงานโคกระบือสามารถยืมไปใช้ในการเกษตรโดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า และยังสามารถยืมไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ด้วย โดยได้เลือกใช้เพลงระบำบันเทิงกาสร ซึ่งการมีรำประกอบ ตัวนักแสดงจะแสดงท่าทางเป็นกระบือที่กำลังโลดแล่นอย่างสนุกสาน สอดคล้องกับโครงการธนาคารโคกระบือของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
5. ด้านการเพาะพันธุ์ปลานิล ซึ่งเป็นปลาที่มีคุณค่าทางอาหาร มีรสดี เพาะพันธุ์ง่าย โดยเลือกใช้เพลงบังใบ เถา เนื่องด้วยในบทร้องของเพลงนี้มีการพรรณนาให้เห็นถึงปลาที่แหวกว่ายอยู่ในสายน้ำ ทำให้เห็นถึงปลานิลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเลี้ยงในพระราชวังสวนจิตลดา
6. เพลงระบำพัธวิสัย เป็นเพลงที่บรรเลงเพื่อเทิดพระเกียรติและถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้สนใจสามารถรับชมการแสดงผลงานทางดนตรีไทย มิติรสเพลงไทย ครั้งที่ 7 ได้ฟรีทางเพจ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 074-260-264-5 โทรศัพท์มือถือ 062-556-7623