บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) กลวิธีการหาเสียงต่อสู้ดุเดือด (1) แม้ว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มิได้มีพื้นที่เป็นของตนเอง แต่ด้วยอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทำและช่วยเหลือการจัดบริการสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่นในจังหวัดจัดทำไม่ได้ ประกอบกับงบประมาณจำนวนมหาศาลของ อบจ. การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงสำคัญยิ่ง (2) ท่ามกลางการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.อย่างดุเดือด ข่าวการช่วยนักการเมืองหาเสียง ลุยช่วยหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. ของอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นอีกกระแสที่ถูกจับตามองจากสังคม ในขณะที่คณะก้าวหน้าก็ได้ออกมาประกาศว่า คณะก้าวหน้ามิใช่ไม่ใช่พรรคการเมือง และเป็นเพียงการใช้สิทธิในฐานะประชาชนเท่านั้น แต่ก็มิวายถูกกล่าวหาว่า “คล้ายพรรคการเมือง” อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง (3) ในขณะที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็ได้เปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งในสังกัดกันอย่างคึกคัก แม้ไม่ลงพื้นที่ช่วยหาเสียง คนในพื้นที่ก็รู้กันดีว่าใครสังกัดพรรคอะไร ถึงจะสมัครอิสระก็ตาม เพราะในทุกพื้นที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความซับซ้อนซ่อนเงื่อนและความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นรวมถึงอิทธิพลที่มีระหว่างการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ (4) ขอยกตัวอย่าง คาดว่าการเลือกตั้งนายก และสมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมาจะสู้กันเดือด มีเงินสะพัดกว่า 3 พันล้านบาท ด้วยงบประมาณบริหาร อบจ.ในแต่ละปีสูงสุดถึง 4 พันล้านบาท ประกอบกับเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ ยกเว้น กทม. มีงบเงินจัดสรรรวมจากรัฐบาลโดยตรง เงินอุดหนุนทั่วไป และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ปี 2563 มากสูงสุดถึง 2.25 พันล้าน การเมืองต้องมีตัวสำรองไว้ (1) ใกล้การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เข้ามาทุกขณะเหลือเวลาอีกประมาณ 20 วัน การหาเสียง และการต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นก็เข้มงวดยิ่งขึ้น แม้ในกระแสการเมืองใหญ่และกระแสเศรษฐกิจบ้านเมืองไทยช่วงนี้ไม่อำนวย ทำให้คนท้องถิ่นมีการวิตกไปต่างๆ นานา เพราะสถานการณ์การเมืองติดลบไม่เอื้ออำนวย มีการขยายประกาศใช้ พรก.ฉุนเฉิน ออกไปถึงต้นปีหน้า ในขณะที่สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเด็กเยาวชนและฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังไม่หยุด อีกทั้ง GDP ในรอบไตรมาสที่ 3-4 ยังติดลบอยู่ ว่าจะกระทบต่อไทม์ไลน์ที่ได้วางไว้สำหรับการเลือกตั้งเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) เกรงว่าจะมีการเลื่อนออกไปอีก แต่ก็อุ่นใจขึ้นเมื่อมีข่าวการยุบสภาหรือม็อบก็ไม่กระทบต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น (2) การเลือกตั้งครั้งแรกของไทย เกิดขึ้นท่ามกลางกลิ่นอายควันปืนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวมีผู้มีสิทธิออกเสียง 4,278,231 คน ออกไปใช้สิทธิจำนวน 1,773,532 คน คิดเป็น 41.45% ในขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป (ครั้งที่ 28) เมื่อ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 38,268,375 คน หรือคิดเป็น 74.69 เปอร์เซ็นต์ คะแนนมหาชนของพรรค พปชร. พุ่งเป็น 8.4 ล้านเสียง ในขณะที่ พรรคเพื่อไทย 7.92 ล้านเสียง พรรคอนาคตใหม่ 6.26 ล้านเสียง ที่ทำให้พรรค พปชร. อ้างว่าได้รับคะแนนสูงสุด แม้ว่าผลคะแนนการเลือกตั้งจะนับกันที่ผลจำนวน ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง (3) จำนวนสถิติข้อมูลการเลือกตั้งที่สูงเป็นสิ่งสะท้อนว่า ปัจจุบันประชาชนเริ่มหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น และการเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งนี้ ถือเป็นปฐมฤกษ์ของการเลือกตั้งท้องถิ่น และที่กำลังจะติดตามมาในส่วนของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลประมาณเดือนมีนาคม 2564 (4) นอกจากนักการเมืองท้องถิ่นจะต้องเตรียมพร้อมในการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว เขาต้องเตรียมรับมือกับคดีเก่าๆ ที่อาจจะมีการขุดคุ้ยจากข้อร้องเรียนเพื่อให้มีการชำระสะสาง เป็นเทคนิคตัดคู่ต่อสู้ไปในตัว เพราะแม้จะรู้ว่ามี “ตัวสำรอง” รอลงแข่ง แต่ก็มีความน่ากลัวน้อยกว่าตัวจริง การตัด “ตัวจริง” หรือสกัดกั้น “ตัวจริง” มิให้ลงสนามแข่งจึงเป็นที่นิยมกันอย่างมาก การเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งนี้จึงเป็นทั้งสัญญาณเตือนผู้เตรียมลงแข่งและผู้มีอำนาจกำกับดูแลให้เตรียมพร้อมตั้งรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน ที่คาดว่าจะมีจำนวนข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในคุณสมบัติและหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครฯ รวมทั้งความอื่นๆ ตามกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายเกี่ยวข้อง มีทั้งร้องเรียนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง หลังวันเลือกตั้ง (ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง) และ หลังจากที่มีประกาศการรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว (5) มีข้อสังเกตความได้เปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สำคัญ คือ การมีพวก มีฐานเสียง มีพวกใน กกต. มีเจ้าหน้าที่รัฐ ในกระบวนการไต่สวนสอบสวนร้องเรียน และมีเงินพร้อมหรือไม่ เพียงใด เพราะการเลือกตั้ง นอกจากตนเองจะพร้อมแล้วยังต้องมีปัจจัยช่องทางดังกล่าวข้างต้นอีกด้วย หากมีพวกโอกาสก็รอดผ่านก็มี เชื่อว่า ผลการเลือกตั้ง และรับรองผล คงไม่ต่างจากเดิมๆ ที่ย้อนไป 30 ปีที่ผ่านมา จึงมีคนเชื่อว่า กกต.ไม่ใช่องค์กรอิสระจริง ความแตกต่างของสภาท้องถิ่นและสภาการเมืองระดับชาติ (1) มีความแตกต่างกันระหว่างการเมืองระดับท้องถิ่นกับระดับชาติที่เห็นชัดคือ สภาการเมืองท้องถิ่นมักทำงานกันไปในทิศทางเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นทีมงาน ในขณะที่การเมืองระดับชาติยังมีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลคานอำนาจกันบ้าง นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ “การเมืองท้องถิ่นไม่มีการถ่วงดุลอำนาจในสภา” หรืออาจมีน้อย โดยเฉพาะใน อปท.ท้องถิ่นขนาดเล็ก ในชนบท ทำให้การเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันใน อปท.ขาดประสิทธิภาพ (2) แม้จะมีเสียงเรียกร้องว่า ประชาชนไม่ควรมีหน้าที่เพียงแค่เลือกผู้แทนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ควรมีอำนาจเข้าไปเฝ้าระวังและตรวจสอบผู้แทนของตนด้วย อย่างน้อยก็เพื่อให้มีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจเลือกผู้แทนในครั้งต่อไป แต่ด้วยระเบียบกฎหมายในการมีส่วนร่วมของประชาชนมิได้มีสภาพบังคับ ซึ่งประธานวุฒิสภามีหนังสือ (2563) แจ้งกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การประชุมสภาท้องถิ่นสามารถเป็นห้องเรียนประชาธิปไตยให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟังเพื่อเรียนรู้การเมือง ระเบียบ กฎหมาย ขั้นตอนการบริหารราชการต่างๆ จะแก้ไขปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของคนในชาติได้ เป็นเพียงหนังสือแจ้งแนวทางในทางปฏิบัติจึงไม่ได้รับการตอบรับเท่าใดนัก (3) ข้อแตกต่างเรื่องผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่เดิมรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ย้อนตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2550 และ 2540 เป็นต้นไป จะกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง แต่ในขณะที่ท้องถิ่นทุกรูปแบบจะกำหนดอายุไว้ที่ 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ทำความสับสนให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือนิวโหวตเตอร์ที่อายุ 18 ปีได้ไม่น้อย ซึ่งเป็นความสับสนเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่นิวโหวตเตอร์คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ในครั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ปรับอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง เหมือนกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงไม่ต้องเข้าใจสับสนเรื่องการนับอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกต่อไป ที่แตกต่างอีกประการก็คือไม่มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขต การเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ (1) การประกาศเลือกตั้งในแต่ละครั้ง เท่ากับเป็นการประกาศให้ประชาชนได้ทราบว่า ถึงเวลาที่ประชาชนจะได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อกำหนดอนาคตท้องถิ่นของตนเองและเป็นโอกาสในการแสดงถึงศักยภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ดังนั้น การเลือกตั้ง อบจ. ที่จะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 17.00 น. จึงเป็นโอกาสในการกำหนดทิศทางของท้องถิ่นการเลือกผู้แทนในนโยบายที่ชอบมากกว่าสังกัดพรรคจะเป็นเสียงสะท้อนความต้องการในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี (2) แม้การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้จะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า จึงอาจทำให้ประชาชนหลายคนไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งต้องแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือกรอกข้อมูลและลงชื่อผู้แจ้งเหตุ เพื่อแจ้งต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันเลือกตั้ง (3) การไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุที่ไม่ไปเลือกตั้งต่อนายทะเบียนฯ จะทำให้เสียสิทธิทางการเมืองหลายประการ เช่น การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น สว. หรือสมัครเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ การเสียสิทธิในการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา เสียสิทธิในการดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง อปท. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง อปท. และสิทธิในการเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (4) มีการชูประเด็น “นักการเมืองทำการเมืองสีขาวไม่ซื้อสิทธิขายเสียง” ที่จริงมีการพูดกันเรื่องนี้มานานมาก แต่ก็เป็นเพียงวาทกรรม ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันการสูง วาทกรรมนี้จะมีผลเพียงใด น่าคิด เพราะ ในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ หรือในบางพื้นที่นั้น การซื้อเสียงด้วยเงินสด จะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ปัจจัยเงิน (กระสุน) ไม่อาจใช้ได้ ฉะนั้น การซื้อเสียงของหัวคะแนนจึงประเมินหวังผลได้เพียงไม่เกิน 50% และต้องเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอนของหัวคะแนนเท่านั้น (5) ประเด็นเงินสินบนนำจับ และรางวัลเบาะแสนำจับทุจริตเลือกตั้งที่ กกต.ตั้งไว้ว่า จะมีผลสัมฤทธิ์เพียงใด หรือไม่ จะมีใครกล้าแจ้ง เมื่อแจ้งแล้วจะได้เงินรางวัลฯจริงหรือไม่ จะมีความปลอดภัยเพียงใด รัฐจะให้ความมั่นใจแก่ผู้แจ้งฯ ได้อย่างไร บรรดาเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน กกต.เป็นพวกใคร มีความเป็นกลาง 100% หรือไม่ ถึงแม้ว่าจะไม่มี กกต.จังหวัด โดยให้ ผอ.สำนักงาน กกต.จังหวัด มีอำนาจแทน เพื่อลดการแทรกแซงจาก “บ้านใหญ่” ประเด็นปัญหาคือ “มันมีความเป็นอิสระหรือปลอดจากอิทธิพลใดๆ” หรือไม่ หรือว่า เงินรางวัลฯ จะไปใช้เล่นงานเพียงบางฝ่ายหรือไม่ ข้อกังขานี้ ยากที่จะกระจ่าง ดูแค่ชื่อคนในสำนักงาน กกต. บางแห่งว่ามาจากไหน มีเส้นสายอย่างไร แม้อาจไม่มีใครสืบรู้ก็ไม่มั่นใจ ทำให้หลายคนยังไม่เชื่อในคำพูดหรือเชื่อข่าวใดๆ โดยง่าย กระบวนการประชาธิปไตยฐานรากกำลังจะเริ่มต้น เช่นเดียวกับการให้สัญญาณการแสดงพลังของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ และลบคำสบประมาทของนักวิชาการหลายคนที่ว่า เสียงในชนบทไม่มีคุณภาพเท่าเสียงในกรุงเทพมหานคร “การเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญนัก”