ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ชีวิตบางทีก็เป็นยิ่งกว่า “ความลับ” บอกใครไม่ได้ แต่สำคัญยิ่งยวด วันหนึ่งตอนต้นปี 2530 บรรเจิดชวนพวกเรา “นักการข่าวรุ่นฮัลเล่ย์” ไปปาร์ตี้ที่บ้านพักนายทหารเรือ ริมทะเลสัตหีบ ที่ครอบครัวของเขามีอยู่ที่นั่น พวกเราเตรียมตัวกันอย่างคึกคัก เพราะไม่เคยได้ไปเปิดหูเปิดตาที่ไหนเลย ปีกว่าที่ผ่านมานี้มีแต่การฝึกอย่างเข้มข้น และการทำงานตามความรับผิดชอบอย่างเคร่งเครียด อาจจะเป็นด้วยงานที่มี “ชั้นความลับ” มากมาย เพื่อให้ผ่านการทดสอบ ที่ถูกอบรมกล่อมเกลาว่า “ทำงานแบบปิดทองหลังพระเพื่อชาติ” และอาจจะเป็นด้วยความตั้งใจที่จะทำงานให้ดี จะได้เจริญก้าวหน้าในทางราชการต่อไป พวกเราหลายคนมีรถก็พาเพื่อนไปคันละ 4 คนบ้าง 5 คนบ้าง รวมแล้วมี 7 คัน มีพวกเราเพียง 3 คนที่ติดธุระไปไม่ได้ บางคันอาสาไปซื้อเสบียงและอาหารสด บางคันอาสาบรรทุกเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว แล้วไปเจอกันก่อนเที่ยงที่บ้านพัก ที่นั่นเราไม่มีกิจกรรมอื่น ๆ เลย นอกจากกิน ๆ ๆ แล้วก็คุย ๆ ๆ บรรเจิดนั้นเล่นกีตาร์ได้ก็เอาออกมาเกาคอร์ดให้พวกเราบางคนที่ชอบร้องเพลงร้องคลอไปในบางช่วง (สมัยนั้นยังไม่มีคาราโอเกะ จึงไม่มีการแย่งไมค์กัน) จำได้ว่าพอถึงตอนที่ร้องเพลง “ครวญ” เป็นเวลาพระอาทิตย์กำลังจะตกดินพอดี ตรงชายหาดหน้าบ้านพักจึงเหมือนมีคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ทุกคนร้องประสานเสียงไปด้วยอย่างดื่มด่ำ “ตะวันใกล้จมแผ่นน้ำ สายชลงามดั่งกำ..มะหยี่....” ดังสะท้านไปจนถึงขอบฟ้าตรงอ่าวไทยนั้น ประมาณสี่ทุ่ม หลายคนสนุกสนานจนเหนื่อยเพลียก็ขอไปนอน เพื่อนผู้ชายบางคนก็เมาจนหลับไปเองนอนอยู่ตรงระเบียงหน้าบ้านบ้าง แอบหนีไปนอนในห้องนอนบ้าง ส่วนผู้หญิงหลายคนจับกลุ่ม “นับเลข” ได้เสียกันอย่างครื้นเครง มีสาว ๆ บางคนขอตัวนอนก่อนเพื่อเตรียมตัวลุกมาทำอาหารในตอนเช้า ผมกับบรรเจิดและเพื่อนผู้ชายอีก 5 คนยังรู้สึกติดลมอยู่ จึงปรึกษากันในอารมณ์ “กรึ่ม ๆ” ว่า ควรไปเที่ยวต่อกันที่พัทยาอีกสักหน่อยดีไหม ใน พ.ศ. 2530 ถนนจากสัตหีบมาพัทยาในตอนค่ำ ๆ เหมือนเป็นถนนว่าง เพราะขับรถไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็มาถึง “แดนโลกีย์” พวกเราขับกันมา 2 คันรถ พากันไปดูบาร์เบียร์และดิสโก้เธค จนกระทั่งสถานเริงรมย์เหล่านั้นปิดในตอนตี 2 ก็มากินข้าวต้มแก้เมา สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือในตอนขากลับ ผมขับรถคร่อมเลนมาตลอดทางจนกลับถึงที่พัก โดยไม่มีรถสวนเลยสักคันเดียว แต่บรรเจิดและเพื่อนอีก 2 คนที่นั่งมาด้วยต้องสวดมนต์มาตลอดทางและสร่างเมาโดยปริยาย จนเมื่อตื่นขึ้นมาในตอนสาย ๆ ก็ไม่มีอาการเมาค้างเลย มีแต่ “ค้างคาใจ” ว่ามีชีวิตรอดมาได้อย่างไร หลังจากที่กลับมาจากการ “ชาร์จแบต” ที่สัตหีบครั้งนั้น พวกเรามีความสนิทสนมกันมากขึ้น รู้สึกเหมือนว่าความเป็น “มนุษย์ธรรมดา” ได้กลับคืนมา แต่พอกลับมาทำงานก็เหมือนเกิดโรค “ซึมเศร้า” ขึ้นกับพวกเราบางคน อย่างบรรเจิดก็มาปรารภกับผมว่า “สงสัยงานการข่าวจะไม่รุ่ง” ไปไหนมาไหนก็อึดอัด ต้องปิดบังตัวเอง แม้แต่เวลาที่ไปงานเลี้ยงรุ่นหรือในหมู่ญาติพี่น้อง เมื่อมีใครมาถามว่า “ทำงานอะไร” ก็ต้องอ้อมแอ้มตอบไปว่า “ทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี” อีกทั้งต้องฝืนความรู้สึกให้อยู่ในกรอบปฏิบัติที่ทางหน่วยงานกำหนด ซึ่งบรรเจิดก็ทำผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ ผมเองก็ตอบบรรเจิดไปว่า “นั่นสิ มีแฟนก็บอกแฟนไม่ได้ว่าไปไหนมาบ้าง หรือจะไปที่ไหนบ้าง นี่แฟนฉันก็บอกจะเลิกอยู่บ่อย ๆ” (ตอนนั้นผมเริ่มชอบสาวคนหนึ่ง และสาวคนนั้นอีก 2 ปีต่อมาก็ได้แต่งงานกัน ซึ่งก็คือภรรยาที่อยู่ด้วยกันมาจน 31 ปีนี้) เหมือนฟ้าลิขิต ไม่นานหลังทริปปาร์ตีสัตหีบ บรรเจิดก็มาชวนผมไปสอบเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเปิดรับเจ้าหน้าที่การทูตหลายตำแหน่ง พวกเราที่ร่วมรุ่น “ฮัลเล่ย์” ไปสอบด้วยกัน 5 คน ตัวผมแม้จะรู้ตัวว่าคงสอบไม่ได้ เพราะกระทรวงนี้ปัจจัยที่สำคัญที่สุด(ที่เขาว่ากัน)ก็คือ “นามสกุล” หรือความเป็นลูกท่านหลานเธอ ที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศนั้นด้วย แต่ผมก็ลองไปสอบดู และก็เป็นไปตามคาดคือพอประกาศผลผู้ผ่านการสอบข้อเขียนก็ไม่มีรายชื่อของผม แต่มีเพื่อน 3 คน รวมทั้งบรรเจิดสอบติด ทว่าพอไปสัมภาษณ์ก็ผ่านเพียงแค่ 2 คน คือบรรเจิดกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ที่มีพ่อเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหมือนกันกับบรรเจิด พวกเราจัดปาร์ตี้ให้กับเพื่อนทั้งสองคน ต่างก็อำนวยอวยชัยให้ได้เติบโตก้าวหน้าได้เป็นเอกอัครราชทูตทั้งสองคน เผื่อพวกเราจะได้ไป “ถล่ม” ในวันข้างหน้า ตอนท้ายของงานก่อนที่จะเมามายกันจนพูดไม่รู้เรื่อง เราให้บรรเจิดกับเพื่อนที่สอบได้อีกคนนั้นขึ้นกล่าวคำอำลา บรรเจิดลุกขึ้นพูดก่อนด้วยน้ำตาเอ่อคลอ “ผมไม่ได้ดีใจกับการสอบได้นี้เลย ผมมีเพื่อนที่ดีมาก ๆ ที่สำนักข่าวกรองนี้ ผมรู้สึกเหมือนเป็นบ้านใหม่ แม้เราจะอยู่ที่นี่มาเพียงปีกว่า ๆ แต่รู้สึกเหมือนว่าทุกคนเป็นญาติ แม้ว่าพวกเราจะแยกกันอยู่ในแต่ละหน่วยงาน แต่พวกเราก็รักกันมาก ๆ พอ ๆ กันกับที่เรารักประเทศของเรา พวกเราต่างมีหน้าที่ที่ต้องทำต่างกันไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็เพื่อประเทศที่เรารักนี้ด้วยกันทุกคน...” นั่นคือข้อความที่ผมจำได้โดยประมาณ ซึ่งผมได้ยินเพื่อนบางคนในกลุ่มเราพูดขึ้นเบา ๆ ว่า “นี่สิท่านทูตตัวแทนของประเทศไทยในอนาคต” ผมเองก็ขวนขวายหาสอบเพื่อโอนไปรับราชการที่อื่น เพราะดูบุคลิกตัวเองคงจะไม่เหมาะกับการเป็นเจมส์ บอนด์ เพราะตอนที่ทำงานอยู่กับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็มีข่าว “ซู่ซ่า” ไม่ค่อยจะปิดบังตัวเอง แล้วก็เป็นคนค่อนข้างเปิดเผยไม่มีความระมัดระวัง คงทำ “ความลับของชาติ” เสียหายต่อไปได้ วันหนึ่งได้อ่านประกาศว่าที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประกาศรับสมัครสอบโอนเป็นอาจารย์ จึงไปสอบดู คราวนี้ประสบความสำเร็จ และเพื่อน ๆ ก็จัดปาร์ตี้ให้อย่างอบอุ่นเช่นเคย หลายปีผ่านไป พวกเรายังติดต่อกันอยู่บ้าง ผมเคยไปเยี่ยมบรรเจิดที่กระทรวงการต่างประเทศอยู่ 2-3 ครั้ง ต่อมาตอนที่ผมแต่งงานใน พ.ศ. 2532 ผมได้ให้บรรเจิดกับเพื่อนที่สอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศอีกคนนั้นมาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว ปัจจุบันทั้งสองคนยังรับราชการอยู่ และได้ขึ้นตำแหน่งสูงสุดเป็นถึงเอกอัครราชทูตทั้งสองคน ชีวิตพวกเราทุกคนยังเป็น “ความลับ” ต่อไปว่า จะไปสิ้นสุดที่ไหนและเมื่อไหร่