ปลากระป๋องถือเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของคนไทยที่ต้องมีไว้ติดบ้าน ทั้งสะดวกและอร่อยถูกปากแปลงได้หลายเมนู กินคู่ได้หลายอย่าง ยิ่งยามยากเกิดภัยต่างๆ จะต้องมีปลากระป๋องอยู่ในถุงยังชีพทั้งหลาย
ข้อมูลจากศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ที่วางขายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป โดยเก็บตัวอย่างเดือนก.ค.63 จำนวน 14 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว และแคดเมียม และสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลาก
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ ได้สรุปผลการทดสอบว่า พบปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ 14 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งกำลังจะปรับเปลี่ยนใหม่)
โดยเกณฑ์มาตรฐานที่ยังใช้กันอยู่นี้ การปนเปื้อนปรอทและตะกั่ว ไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน
ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงใหม่ กำหนดให้พบแคดเมียมสูงสุดได้ในอาหารประเภทปลาไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (โดยลงประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อ 20 พ.ค.63 จะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจาฯ
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจวิเคราะห์ที่ฉลาดซื้อเก็บตัวอย่างปลากระป๋องในครั้งนี้ พบว่าการปนเปื้อนของแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง ก็ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของประกาศฉบับใหม่นี้เช่นกัน
แต่แม้ปลากระป๋องจะมีโปรตีนสูง แต่ยังมีการปนเปื้อนของโลหะหนักอยู่บ้าง จากการสะสมในธรรมชาติของปลา และแม้จะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยๆ ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงแนะให้รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะสลับกับอาหารประเภทอื่น
รวมทั้งที่ต้องควรระวังอีกอย่างคือความเสี่ยงจากสารอันตราย "ฮีสตามีน" ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ในระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเลที่ควบคุมความเย็นได้ไม่มากพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาการแพ้ฮีสตามีนได้ นอกจากนี้ ปลากระป๋องยังมีโซเดียมปริมาณสูง หากรับประทานมากเกินไปก็อาจเสี่ยงเกิดโรคไตหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้
ทั้งนี้ อ่านข้อมูลและผลทดสอบได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ https://www.chaladsue.com/article/3499