องคมนตรี ร่วมเปิดงานมหกรรมสัตว์น้ำไทยภาคตะวันออก ขณะอธิบดีกรมประมงยอมรับพัฒนาการหน่วยงานรัฐทำได้ช้ากว่าบริษัทเอกชน แต่พร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มั่นคงยั่งยืน ย้ำต้องร่วมกันพัฒนาไปด้วยกันทั้งห่วงโซ่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่ออาชีพในภายหลัง วันที่ 2 ธ.ค.63 เวลา 10.30 น. ดร.จรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน "สัตว์น้ำไทย 2020" หรือ "Thai Aqua Expo 2020" ภายในโรงแรมซันไรส์ ลากูล โฮเทลแอนด์กอล์ฟ ต.ท่าทองหลาง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีนายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย น.ส.พัชรรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย นายอุดร ส่งเสริมประธานการจัดงานร่วมในพิธีเปิด ระหว่างการเปิดงานได้มี นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ซึ่งเดินทางมาปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายกรมประมง กับการขับเคลื่อนสัตว์น้ำไทย" และนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้มาปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บทบาทสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจไทย" ท่ามกลางเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้จัดการแสดงสินค้าที่เข้ามาร่วมในพิธีกว่า 400 คน โดยนายบรรจง กล่าวระหว่างพิธีเปิดว่า ในการจัดงานครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เดินทางมาเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่าวันละ 1,500 คน ต่อเนื่อง 3 วัน จึงเป็นแรงผลักดันให้มีการจัดงานขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรอย่างครบถ้วนรอบด้านสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน มีการสร้างงานสร้างอาชีพและเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมากมหาศาล ทางคณะผู้จัดงานจึงได้จัดงานขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด "สัตว์น้ำไทย ก้าวอย่างไร ให้ยั่งยืน" ตั้งแต่วันที่ 2-4 ธ.ค.63 รวมตลอด 3 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ข้อมูลทางวิชาการ นวัตกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และเพื่อยกระดับเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย เพื่อส่งเสริมการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านการตลาดสัตว์น้ำไทยในประเทศและตลาดโลก เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย โดยภายในงานได้มีการรวบรวมสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ที่สำคัญและกำลังมาแรง ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจในขณะนี้ รวมถึงสัตว์น้ำทางเลือกของประเทศ เช่น กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม ปลานิล ปลากะพง และปูทะเล มานำเสนอข้อมูลวิจัย นวัตกรรมในประเด็นที่น่าสนใจด้านต่างๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผู้สนใจเดินทางมาเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ไม่น้อยกว่าการจัดงานในครั้งที่ผ่านมา นายบรรจง กล่าว ขณะที่นายมีศักดิ์ กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษว่า ปัจจุบันไทยมีผลผลิตสัตว์น้ำรวมทั้งประเทศประมาณ 2.6 ล้านตัน โดยเป็นสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงประมาณ 1 ล้านตัน และสัตว์น้ำจากธรรมชาติอีกจำนวน 1.6 ล้านตัน การพัฒนาการด้านอาชีพได้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่ด้วยการเลี้ยงในเชิงระบบที่ดี และการเพาะเลี้ยงในเกษตรกรรายย่อยที่ต้องดูแลช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องมีการปกป้องเพื่อให้มีการพัฒนาเป็นแบบห่วงโซ่ เพื่อลดการใช้สารเคมีบางตัวที่ถูกนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยง ซึ่งมีปัญหาในเชิงของการส่งออก และมีผลที่ชัดเจน คือ มีบางบริษัทที่ไม่สามารถที่จะส่งออกเข้าจีนได้ เนื่องจากมีการค้นพบสารที่เป็นสารประกอบที่สำคัญ จึงทำให้บริษัทนั้นยังส่งออกไม่ได้ เหตุเกิดขึ้นมาจากฟาร์มเล็กๆ เพียงฟาร์มเดียวที่มีสารที่ไม่พึงประสงค์อยู่ในกระบวนการเลี้ยง และมีการตรวจพบ จึงเห็นได้ว่าห่วงโซทั้งห่วงโซ่นั้นมีผล หากสะดุดเพียงห่วงโซเดียวก็อาจทำให้ทุกอย่างไปไม่ได้ เราเป็นประเทศเกษตรกร ตลาดบางประเทศยังต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากเรา เพราะเรามีความพร้อมในหลากหลายมิติ เรามีการใช้ศักยภาพพื้นที่ของเราตามศักยภาพที่เรามีอยู่อย่างเต็มความสามารถ เรามีการพัฒนาเพื่อต่อต้านในสิ่งที่เป็นอุปสรรค เช่น โรคอีเอ็มเอส โรคขี้ขาวในกุ้ง กรมประมงในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในบางเรื่องทั้งตลอดห่วงโซ่ พร้อมที่จะสนับสนุนเกษตรกรในทุกมิติภายใต้กรอบขอบเขตที่มีอำนาจได้มีความพยายามในการเจรจาการค้าภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ นำมาขับเคลื่อน โดยมีเว็บไซด์ที่จะเป็นช่องทางการค้าให้แก่เกษตรกร มีการกำหนดขนาดมาตรฐานเพื่อการันตีสินค้าให้แก่เกษตรกรที่มีคุณภาพ และมีการประชาสัมพันธ์สร้างกระบวนการรับรู้ให้กับผู้บริโภค และสถานการณ์ที่สำคัญที่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปรับตัว คือ สถานการณ์ของโควิด 19 ซึ่งเป็นภาวะที่เราขาดโอกาส และก็เป็นโอกาสอีกเช่นเดียวกัน โดยปริมาณการส่งออกปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ แต่ปริมาณการส่งกุ้งออกกลับลดลง ปริมาณสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงลดลงเป็นไปอย่างสวนทาง โดยในวันนี้ทราบว่าการพัฒนาของทางภาคเอกชนนั้น สามารถจับสัตว์แล้วฟรีซ และนำไปบริโภคได้เลย อันนี้ก็เป็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ของเราให้ครบทั้งห่วงโซ่ จึงอยากทำแผนร่วมกันในหลายๆ แผน ของสัตว์น้ำแต่ละชนิดร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยการเชิญผู้แทนหรือสมาคมต่างๆ เข้ามาพูดคุยในรายละเอียดเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน ภายใต้นโยบายของรัฐบาล " มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" จะเห็นได้ชัดจากเกษตรแปลงใหญ่ ว่าหากมีการรวมกลุ่มกัน และมีการบริหารจัดการที่ดีแล้ว เกษตรกรอยู่ได้ นายมีศักดิ์ ระบุ