อาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตนี้ที่จะได้เห็น #TheGreatConjunction2020" ดาวพฤหัสฯใกล้กับดาวเสาร์สุดๆ ห่างแค่ 0.1 องศา พลาดครั้งนี้ต้องรออีก 60 ปีหน้า ตั้งแต่ 20-23 ธ.ค.63 ทั้งชมฝนดาวตกเจมินิดส์ข้ามคืน รวมดาวเคียงเดือน และกลางคืนที่ยาวนานที่สุดในรอบปี NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ เดือนธันวาคมแสนสุขสันต์ เตรียมพบกับอภิมหา #ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ส่งท้ายปี 2563 เริ่มด้วย คืนวันที่ 13 ธ.ค.- รุ่งเช้า 14 ธ.ค.63 #ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ (โดยเกิดจากโลกโคจรตัดผ่านวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน) สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เวลาประมาณ 20:30 น. ของวันที่ 13 ธ.ค. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธ.ค.63 ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง และไม่มีแสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง วันที่ 20 - 23 ธ.ค. 63 #TheGreatConjunction2020" หรือปรากฏการณ์ "ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี" ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแพะทะเล ในแต่ละวันดาวเคราะห์ทั้งสองจะปรากฏใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 20 ธ.ค.63 เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว และในวันที่ 21 ธ.ค.63 จะปรากฏใกล้กันมากที่สุด ระยะห่างเพียง 0.1 องศา เวลา 18.00 น. จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้ จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ดาวเคราะห์ทั้งสองจะค่อยๆ ห่างกัน ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทุก 20 ปี ที่จะกลับมาปรากฏใกล้กันอีกครั้งเดียวกัน แต่ครั้งนี้นับว่าเข้าใกล้ที่สุดในรอบกว่า 397 ปี หากพลาดโอกาสนี้ จะต้องรอต้องรออีก 60 ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงจะเข้ามาใกล้กันในระยะห่าง 0.1 องศาแบบนี้อีกครั้ง ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพียงครั้งเดียวในชีวิตที่จะเห็นดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์อยู่ใกล้กันจนเสมือนเป็นดวงเดียวกัน และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวทั้งสองพร้อมดวงจันทร์บริวารอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันด้วย! นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อื่นๆที่น่าสนใจ 17 ธ.ค.63 #ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์ ชวนสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ปรากฏข้างดวงจันทร์เสี้ยวบาง ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 21 ธ.ค.63 #วันเหมายัน กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศซีกโลกเหนือถือเป็นวันเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูหนาว โดยดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด