ทุกการแข่งขันไม่ได้ตัดสินที่ผลแพ้หรือชนะเท่านั้น แต่ภายใต้หยาดเหงื่อ เสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน กลับเต็มไปด้วยบทเรียนมากมายให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้เพื่อเติบโตในโลกยุคใหม่ เช่นเดียวกับการแข่งขัน ไมโล ฟุตซอล 2020 พลังทักษะ สร้างทีมแกร่ง ในปีนี้ แม้จะมีตัวแทนทีมแกร่งจากทั่วประเทศที่ไม่มีโอกาสไปต่อถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่ไมโลเชื่อว่าประสบการณ์ที่เด็ก ๆ ได้รับจะจุดประกายการเรียนรู้และเติบโตสู่ความสำเร็จด้วยคุณค่าจากกีฬา เพราะกีฬาคือครูชีวิต เช่นเดียวกับเรื่องราวจากสองตัวแทนทีมแกร่งที่นำความผิดหวังครั้งนี้มาเป็นแรงผลักดันให้มุ่งมั่นกลับไปพัฒนาฝีมือ และไม่ย่อท้อต่อเส้นทางแห่งความฝันที่จะเป็นนักกีฬาอาชีพในอนาคต เริ่มจากสองพี่น้องแข้งจิ๋ว ที่ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะกีฬาทำให้มีวินัยและความรับผิดชอบมากขึ้น หลังเลิกเรียน ทั้งคู่จะทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยมาจากโรงเรียน เพื่อเตรียมไปซ้อมฟุตซอลในทุกเย็น บางครั้งคุณแม่ยังพาไปว่ายน้ำต่อเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หลังจากหันมาเล่นกีฬา พี่น้องสนิทสนมกันมากขึ้น เวลาว่างก็ชวนกันคุยเรื่องฟุตบอล วางแผนการเล่น และเป็นกำลังใจให้กันในวันที่ผิดหวัง น้องแสตมป์-ด.ช.รัชพงศ์ สว่างอารมย์ อายุ 7 ปี ชั้น ป.3 โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย บอกว่า “การแข่งขันทักษะที่ผ่านมาผมชอบฐานส่งบอลมากที่สุดครับ รู้สึกว่าทำได้ดีเพราะผมเล่นเป็นกองกลางอยู่แล้ว คราวนี้ผมได้เป็นกัปตีนทีมด้วย ถึงผมจะตัวเล็กกว่าคนอื่นแต่ผมได้เป็นผู้นำ ต่างจากเวลาอยู่บ้านที่ผมเป็นน้องคนเล็ก และต้องตามพี่ ๆ ครับ ผมชอบเล่นฟุตซอล เพราะได้เจอเพื่อนใหม่ สอนให้ผมรู้จักแบ่งปันและทำงานเป็นทีม ถึงวันนี้เราจะแพ้ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะมีแพ้ก็ต้องมีชนะ ผมอยากขอบคุณไมโลที่ให้โอกาส ผมสัญญาว่าจะกลับไปพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้น และปีหน้าจะกลับมาแข่งอีกครับ” ใบตอง-แสตมป์ ด้าน น้องใบตอง-ด.ญ.ชญาดา สว่างอารมย์ อายุ 8 ปี ชั้น ป.3 โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย เล่าว่า “หนูเริ่มเล่นฟุตซอลมาได้ปีกว่า แต่เคยได้ยินชื่อไมโลฟุตซอลมานาน พอโค้ชชวนมาแข่งรุ่น 7-8 ปี ก็รู้สึกดีใจมาก โค้ชบอกว่าหนูมีความตั้งใจและยิงแม่นด้วยค่ะ หนูชวนน้องชายมาแข่งด้วยกัน จากที่ซ้อมทุกวันอยู่แล้วก็ซ้อมหนักขึ้น ชอบฟุตซอลเพราะเวลาเล่นในสนามจะมีคนไม่เยอะ ต้องวิ่งให้เร็วเพื่อเข้าถึงบอล ถึงเป็นผู้หญิงก็ไม่เสียเปรียบค่ะ นอกจากเล่นกีฬาหนูยังชอบวาดรูปเพราะช่วยให้หนูมีจินตนาการ มีสมาธิจดจ่อ ฝึกความอดทน และนำมาปรับกับการเล่นฟุตซอลให้เล่นได้นานขึ้นด้วย” อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้ทั้งคู่จะผิดหวัง แต่สองพี่น้องยืนยันว่าจะไม่ทิ้งความฝันในเส้นทางกีฬา น้องใบตองบอกว่า “เสียใจนิดหน่อยที่ไม่ได้เข้ารอบ แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ หนูจะกลับมาฝึกซ้อมให้มากขึ้น เพราะความฝันของหนูคือนักกีฬาทีมชาติ หนูคิดว่ากีฬาช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย และยังเป็นการฝึกสมาธิ ทำให้ใจเย็นขึ้นค่ะ นอกจากนี้ ยังทำให้หนูมีเพื่อนมากขึ้น และสนิทกับคุณพ่อมากขึ้นเพราะเราได้คุยเรื่องฟุตบอลด้วยกัน ดูคลิปการแข่งฟุตบอลด้วยกันค่ะ” ยูโร อีกหนึ่งตัวแทนนักกีฬาฟุตซอลที่การแข่งขันนัดล่าสุด น้องยูโร-ด.ช.ภูตะวัน จันทร์อินทร์ อายุ 11 ปี จากทีมพระหฤทัยคอนแวนต์ B ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมตัวเต็ง แม้จะไม่ได้เข้าไปชิงแชมป์ในปีนี้ แต่ก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปพัฒนาฝีมือต่อ “ผมเริ่มเล่นฟุตบอลตามพ่อมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ก่อนหน้านี้ผมอยู่ทีมหาดใหญ่จูเนียร์ จังหวัดสงขลา เคยเป็นแชมป์ไมโล ฟุตซอล รุ่นอายุ 7-8 ปี พอโค้ชเห็นแววเลยให้โควตานักกีฬาผมมาเรียนที่กรุงเทพฯ ปีนี้ผมมาแข่งไมโล ฟุตซอลเป็นครั้งที่ 3 แล้วครับ การแข่งขันในปีนี้เปลี่ยนรูปแบบมาเน้นทักษะพื้นฐานฟุตซอล ซึ่งยากกว่าเดิมครับ” แม้เขาจะไปไม่ถึงฝันแต่ก็ไม่เสียใจ น้องยูโร บอกว่า “พ่อแม่ผมดูไลฟ์สดอยู่ที่บ้าน พอเห็นผมแพ้ก็โทรมาให้กำลังใจ ผมไม่เสียใจครับเพราะทำเต็มที่แล้ว ทีมเรามาได้ไกลขนาดนี้ก็ดีใจแล้วครับ ผมได้ให้กำลังใจเพื่อนๆ ในทีมให้สู้ต่อ ผมจะตั้งใจซ้อมให้มากขึ้น เพราะผมอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติครับ นอกจากฟุตซอล ผมยังเล่นฟุตบอลและแบดมินตันครับ แต่ชอบฟุตซอลมากที่สุด ถึงต้องซ้อม 7 วัน จนบางครั้งรู้สึกเหนื่อยแต่ก็มีความสุขที่ได้เล่นกับเพื่อน ได้ฝึกไหวพริบ การทำงานเป็นทีม วินัย ที่สำคัญทำให้ร่างกายแข็งแรงครับ กีฬายังช่วยสานฝันการมาเรียนที่กรุงเทพฯ ให้เป็นจริง และยังได้ไปฝึกกับโค้ชระดับโลกที่สเปนมาด้วยครับ” อาจารย์ณรงค์ ทั่งเรือง ด้าน อาจารย์ณรงค์ ทั่งเรือง หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ซึ่งส่งเด็ก ๆ มาร่วมทัวร์นาเมต์ไมโล ฟุตซอลต่อเนื่อง 8 ปีแล้ว ปีนี้ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันถึง 4 ทีม กล่าวว่า “นอกจากกีฬาจะเป็นยาวิเศษแบบที่ทุกคนรู้กัน กีฬายังฝึกระเบียบวินัย ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ เป้าหมายของผม คือ อยากปลูกฝังเด็ก ๆ ด้วยกีฬา ให้พวกเขาเติบโตไปโดยไม่เป็นภาระของสังคม ส่วนเรื่องผลแพ้ชนะ ผมว่าไม่สำคัญเท่าได้เห็นเด็ก ๆ ทำเต็มที่แล้ว” นี่คืออีกบทพิสูจน์ว่า สุดท้ายแล้วชัยชนะอาจไม่ใช่ทุกสิ่ง แต่คุณค่าจากกีฬาที่จะหล่อหลอมนักกีฬาต่างหากคือบทเรียนที่สำคัญ เพราะในชีวิตจริงเราต้องเผชิญกับวันที่ชนะและพ่ายแพ้ ซึ่งจะสอนให้เราเติบโต สอดคล้องกับความเชื่อของไมโลที่ว่า “กีฬาคือครูชีวิต” การเล่นกีฬา คือ อีกหนึ่งวิชานอกห้องเรียนที่บ่มเพาะให้เด็ก ๆ เติบโตสู่ความสำเร็จ