สสจ.พิจิตร เป็นห่วงคนเมืองชาละวัน ชอบกินอาหารประเภท ลู่ ลาบ เลือด หมูดิบ เผยข้อมูล ตั้งแต่ต้นปีถึงวันนี้พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ ตาย 4 สถิติติดอันดับ 1 ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยหามส่ง รพ. 22 ราย นับเป็นสถิติสูงสุดเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ
วันที่ 30 พ.ย. 63 นายแพทย์กมล กัญญาประสิทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร เปิดเผยข้อมูลภายหลังการประชุมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ว่าวันนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.ลงพื้นที่รณรงค์ให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารเหตุจากข้อมูลล่าสุดวันนี้ พิจิตรพบ ผู้ป่วยโรคไข้หูดับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 พฤศจิกายน 2563 มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 22 ราย สูงสุดเป็นลำดับ 2 ของประเทศ อันดับ 1 ของเขตสุขภาพที่ 3 โดยพบในพื้นที่อำเภอต่างๆ ได้แก่ อำเภอเมืองพิจิตร 5 ราย , วชิรบารมี 4 ราย , สามง่าม 3 ราย , วังทรายพูน / โพธิ์ประทับช้าง / โพทะเล 2 ราย , ตะพานหิน / บางมูลนาก / ทับคล้อ และสากเหล็ก 1 ราย
ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในเพศชาย ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป สาเหตุการป่วยส่วนใหญ่เกิดจากการกินลาบสุกแต่ใส่เลือดดิบ กินอาหารแบบดิบๆ หมูกระทะจิ้มจุ่ม และจากการปนเปื้อนไม่มีการแยกเขียงหั่นหมูดิบกับหมูสุก หรือหมูดิบกับผักสด
ซึ่งผู้ป่วยที่รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าสู่ร่างกายแล้ว ภายใน 3 วัน จะมีไข้สูงร่วมกับปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดบวมตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัวตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว จนเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าปู่เบื่อหุ้มสมองทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบตามมา และเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับปลายประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลามและทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนหูหนวกร่วมกับอาการเวียนศีรษะและเดินเซตามมาได้ ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วันหลังจากเริ่มมีอาการ
สำหรับคำแนะนำในการป้องกันโรคดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันการติดโรค ดังนี้ไม่รับประทานเนื้อหมูดิบ เช่น จิ้มจุ่ม ที่ต้มให้สุกไม่พอ ลาบดิบ หรือลาบสุกใส่เลือดดิบ ไม่กินเนื้อหมูที่ป่วยหรือตายจากโรค เลือกบริโภคเนื้อหมูจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน สวมรองเท้าบู๊ต สวมถุงมือ สวมเสื้อผ้าที่รัดกุมระหว่างปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหมูทุกขั้นตอน จะป้องกันการแพร่เชื้อจากหมูมาสู่คนได้ รวมถึงควรล้างมือ ล้างเท้า ล้างตัวให้สะอาดหลังการสัมผัสหมูและเนื้อหมู เมื่อเกิดแผลต้องระวังในการสัมผัสเนื้อหมู ควรมีการแยกเขียงหั่นหมูดิบกับหมูสุก หรือหมูดิบกับผักสด กำจัดเชื้อจากฟาร์ม โดยการเลี้ยงหมูตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคไข้หูดับดังกล่าว