“ถ้าเราตั้งเป้าหมายถูกชีวิตก็ง่าย พอเรามีเป้าหมายเราก็มุ่งไปสู่การกระทำ สุดท้ายมันก็จะทำให้เราหลุดกับดักความจน” เป็นคติที่ “ศรศิลป์ คำปลิว” อาสาสมัครเกษตรกรด้านบัญชี จังหวัดระยอง ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ยึดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตจนประสบความสำเร็จ โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการจดบันทึกมาสู่การตั้งเป้าหมายและลงมือปฏิบัติจนเห็นผลจริง หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ครูศรศิลป์ เริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานตามความรู้ที่ได้ศึกษามา โดยเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของบริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อประกอบอาชีพมาสักระยะ จึงมองเห็นเส้นทางที่จะหารายได้เพิ่มจากอาชีพหลัก จึงใช้พื้นที่ที่ มีอยู่ ปรับปรุงให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และเริ่มต้นทำสวนยางพารา แต่ก็ประสบภาวะราคายางพาราตกต่ำ มีรายได้ ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย จึงหาวิธีลดต้นทุนโดยการทำบัญชีครัวเรือน เมื่อทำบัญชีแล้วจึงทำให้เห็นว่า มีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย จึงได้ศึกษาเรียนรู้การทำเห็ดฟางนำมาประยุกต์ทำเห็ดฟางกองเตี้ยในร่องยางเพื่อเพิ่มรายได้จากเห็ดฟางและให้ได้ปุ๋ยหมักปาล์มในร่องยางเพื่อลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยจากท้องตลาด ทำให้มีรายได้เข้ามามากขึ้นแต่ก็ยังไม่มีเงินเก็บ เนื่องจากต้นทุนสูงโดยเฉพาะค่าแรง ศรศิลป์ คำปลิว อาสาสมัครเกษตรกรด้านบัญชี เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการจดบันทึกบัญชีมาวิเคราะห์ ครูศรศิลป์ จึงตั้งเป้าหมายใหม่ โดยเน้นการผลิตเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ คือทำน้อยแต่ได้มาก และด้วยข้อจำกัดของร่างกาย ที่ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะหาเครื่องมือมาทดแทนในการดำเนินชีวิตและทำการเกษตร ประกอบกับมีพื้นฐานความรู้และความใฝ่รู้ จึงพยายามศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองในเรื่องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้อยู่ในยุคปัจจุบัน เพื่อผันตนเองเข้ามาสู่เกษตรกรสมัยใหม่ที่มีความรู้ สามารถใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสื่อสาร สืบค้นข้อมูลในช่องทางต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม จากความรู้สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อครูศรศิลป์ ได้เข้าร่วมโครงการสร้างเกษตรกรสมัยใหม่ด้วยบัญชีสู่วิถีธุรกิจ และมีหน่วยงานรัฐให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการทำการเกษตรสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ระบบท่อส่งน้ำ น้ำหยด ในการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ดูแล พืชผักผลไม้ เพื่อให้ผลผลิตคงที่มีขนาดและคุณภาพที่ได้มาตรฐานใกล้เคียงกันในผลผลิตเมล่อน และมัลเบอร์รี่ ซึ่งในแต่ละกระบวนการผลิตได้แนะนำให้เกษตรกรจดบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพ รวมทั้งรายรับและรายจ่าย โดยเน้นช่องทางการจำหน่ายแบบ Online มีการก่อสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ เพื่อเพิ่มประเภทของผลิตผลทางการเกษตร การขยายพื้นที่ปลูกมัลเบอร์รี่และการขยายกิ่งพันธุ์ โดยแปรรูปผลผลิตให้เป็นแยมมัลเบอร์รี่และพุดดิ้งมัลเบอร์รี่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และการทำศูนย์เรียนรู้ห้องถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต จากผู้รับสู่การเป็นผู้ให้ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ผู้เข้ามาเรียนรู้ได้นำไปปรับใช้และมีของจริงให้เห็นนำไปขยายต่อยอดเป็นเครือข่ายได้เพิ่มขึ้นโดยจัดทำวีดีทัศน์ขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีผนวกกับการทำการเกษตรตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย “การพัฒนาตนเองสู่การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ในยุค 4.0 หรือการเปลี่ยนจากเกษตรกรทั่วไปให้เป็นเกษตรกรนักธุรกิจ ต้องเริ่มจากมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งถ้ามีเป้าหมายชัดเจนแล้วก็จะนำไปสู่การกระทำที่ชัดเจน เกษตรกรจำเป็นต้องนำระบบเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เรียนรู้เรื่องระบบการผลิต ระบบน้ำต่างๆ เป็นต้น เราจึงต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เกษตรกรจะต้องขายสินค้าให้ได้ราคาดี เพราะฉะนั้นจึงต้องมีมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน GAP, อย. เป็นต้น ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในคุณภาพและเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องของไอที ถ้าเรามีความรู้เรื่องไอที ก็จะสามารถสื่อสารไปสู่ภายนอกได้ เป็นช่องทางการขายสินค้าไปหาผู้บริโภคได้โดยตรง ซึ่งจะได้ราคาที่สูงกว่าที่ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง และสิ่งที่สำคัญคือ ความพอเพียง จำเป็นต้องรู้เหตุรู้ผลว่าทำแล้วได้อะไร รู้ว่าทำเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ รู้ต้นทุน รู้ประมาณตน ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนว่า ทำให้เหมาะสมกับตนเอง เราก็เอาไปประยุกต์ให้เหมาะสม ถ้าทำให้แข็งแรง มียอดขาย มีตลาดแล้ว ถึงตรงนั้นค่อยขยายไป นั่นก็คือความยั่งยืน และสิ่งที่ทำต่อไปคือ การสอนให้คนอื่นทำต่อ ซึ่งจากการมาเป็นครูบัญชีอาสาก็ทำให้ได้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ทำให้คนรู้จักเราและเรารู้จักคนอื่นมากขึ้น ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้และเป็นโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดได้อีกด้วย เกษตรกรยุคใหม่จึงต้องรู้จริงและลงมือปฏิบัติจริง จึงจะสัมฤทธิ์ผล” “ศรศิลป์ คำปลิว” จึงเป็นตัวอย่างของการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ในยุค Thailand 4.0 ที่ไม่หยุดนิ่งในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปพัฒนาตนเองสู่การเป็นเกษตรกรแบบผู้ประกอบการ และมีการใช้ข้อมูลทางบัญชีเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจของตนเองตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ