วันนี้ (21 ก.ค.60) นายสมศักดิ์ สุภาจรูญ สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับขบวนการสหกรณ์จังหวัดในชัยภูมิ โรงงานน้ำตาลมิตรผล หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในอำเภอเทพสถิต มหาวิทยาลัยชีวิต ศูนย์คอนสาร ชาวบ้านซับมงคล และบ้านชัยมงคล หมู่ที่ 8,10 ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต ร่วมกันสร้างฝายแห่งที่ 4 ณ บ้านซับมงคล หมู่ที่ 8 ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ นายสมศักดิ์ สุภาจรูญ สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ จัดขึ้นตามโครงการ “ขบวนการสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิรวมใจรักษ์น้ำเพื่อพ่อของแผ่นดิน” เพื่อเป็นการถวายความอาลัยและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ รวมทั้งเป็นการสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำรักษาความชุ่มชื้นของดินและป่า รวมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของขบวนการสหกรณ์ และประชาชนในการอนุรักษ์ โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ ร่วมสมาชิกสหกรณ์ ผู้นำชุมชน และหน่วยงานร่วม พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านซับมงคลและบ้านชัยมงคล ช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ ตัดไม้ไผ่ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ล่วงหน้า มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรมทุกครอบครัว โดยทุกคนต่างเสียสละแรงงาน ร่วมบริจาคไม้ไผ่ เชือก อาหารด้วยความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการครั้งนี้ ด้าน นายชัย กลมจัตุรัส เกษตรกรที่บริจาคที่ดินในจุดสร้างฝาย กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ต้องขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างฝายชะลอน้ำครั้งนี้ ตนเองและพี่น้องชาวซับมงคล และชัยมงคล จะร่วมกันใช้และดูแลรักษาฝายแห่งนี้ให้นานที่สุด เพราะฝายนี้จะมีพี่น้องร่วมใช้ประโยชน์ทั้ง 210 ครัวเรือน ขณะที่ นายเหลือ เอกตะคุ ครูฝายจากอำเภอคอนสาร กล่าวว่า ตนเองและคณะเดินทางมาจากอำเภอคอนสารเพื่อขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำดีเพื่อพ่อครั้งนี้ โดยยินดีออกค่าใช้จ่ายในการเดินเองทั้งหมด และพร้อมที่ไปช่วยพี่น้องทุกแห่งในจังหวัดชัยภูมิ ที่จะทำโครงการดีๆ เช่นนี้ และคงจะไปต่อยอดกับที่ทางนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิกำลังจะดำเนินต่อยอดโครงดังกล่าว ขยายผลให้เกิดฝายชะลอน้ำในทุกคลองน้ำร่วมให้ได้ 90 แห่งภายในปีต่อไป เพราะตนเห็นว่าจังหวัดชัยภูมิเป็นแหล่งต้นน้ำ ในฤดูฝนน้ำจะเยอะ พอถึงหน้าแล้งก็แห้งแล้ง สาเหตุเพราะไม่มีที่เก็บกักน้ำนั่นเอง กรณีจะสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ก็คงยากต่อการดำเนินการ ทั้งเรื่องกฎหมาย งบประมาณ ไม่เหมือนกับที่ขบวนการสหกรณ์กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ คือดึงพลังชาวบ้าน ออกมาร่วมกันคิดปัญหา และร่วมกันแก้ไขปัญหาของตนเอง หน่วยงานภายนอกเป็นเพียงหน่วยงานสนับสนุน ตนเชื่อว่านี่คือการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าที่ภาครัฐจะดำเนินการเองทั้งหมด